Satisfaction of Thailand Express Way Services of Consumers in Bangkok and Boundary

โดย สุมิตรา มหันตปัญญ์

ปี     2549

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการใช้ทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือประชากรในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เคยใช้ทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัยจำนวน 400 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างใช้ค่าทดสอบค่าที (Independent T-test) กับกลุ่มตัวอย่างที่มี 2 กลุ่ม การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีมากกว่า 2 กลุ่ม ถ้าพบความแตกต่างจะทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยใช้วิธี LSD (Least Significant Difference) สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows

ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 28-37 ปีจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท/องค์กรเอกชน มีรายได้ต่เดือน 10,001-25,000 บาท เส้นทางที่ใช้บริการ มากเป็น อันดับที่ 1 เส้นทางทางพิเศษเฉลิมมหานคร รองลงมาทางพิศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา วัตถุประสงค์ในการใช้มากเป็นอันดับที่ 1 เดินทางไป/กลับ ทำงานรองลงมาเดินทางไป/กลับ ท่องเที่ยว วันที่ใช้ มากเป็นอันดับที่ 1 วันจันทร์-วันศุกร์ รองลงมา วันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดเทศกาล ช่วงเวลาที่ใช้ อันดับที่ 1 ช่วงเช้าเวลา 06.01-12.00 น. รองลงมา ช่วงกลางวันเวลา 12.01-18.00 น. และช่วงเย็นเวลา 18.01-24.00 น. และความถี่ในการใช้บริการ 2-5 ครั้งต่อสัปดาห์

ระดับความพึงพอใจโดยรวมที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ด้านความปลอดภัย ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา และด้านความสะดวก ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.27 3.13 3.09และ 2.03

ระดับความพึงพอใจโดยรวมของการให้บริการของการทางพิเศษที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญมากที่สุด ด้านการใช้บริการ Website ของการทางพิเศษ (www.eta.co.th) ด้านการให้บริการกู้ภัยบนทางพิเศษ และด้านการให้บริการ Call Center (1543) ตามลำดับ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.45 3.14 และ 3.09

ส่วนการทดสอบสมมติฐานพบว่า ความพึงพอใจกับปัจจัยส่วนบุคคล และพฤติกรรมการใช้บริการสามารถสรุปผล ได้ดังนี้
เพศ ระดับการศึกษาและรายได้ต่อเดือนที่แตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจ ด้านผลิตภัณฑ์ด้านราคา ด้านความปลอดภัย และด้านความสะดวกไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.05

อายุที่แตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านความปลอดภัย และด้านความสะดวกไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอายุที่แตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจด้านผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

อาชีพที่แตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านความปลอดภัย และด้านความสะดวกไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอาชีพที่แตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจด้านราคาและด้านความสะดวกแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ความถี่ในการใช้บริการแตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านความปลอดภัย และด้านความสะดวกไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าความถี่ในการใช้บริการแตกต่างกัน ระดับความพึงพอใจด้านผลิตภัณฑ์และด้านราคาแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

DOWNLOAD

Comments are closed.