The Comparison between Thai and Foreign Tourists’ Behavior and Behavior Tendency in Visiting Herjitage in Ayutthaya Historical Park

โดย ทิพวรรณ แพทย์รักษ์

ปี     2549

บทคัดย่อ (Abstract)

การค้นคว้าอิสระฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการเปรียบเทียบพฤติกรรมและแนวโน้มพฤติกรรมการท่องเที่ยวโบราณสถานของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ กลุ่มละ400 ชุด ที่มาท่องเที่ยวโบราณสถาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา

ผลการวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวชาวไทย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีอายุระหว่าง 21-30 ปี มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯและปริมณฑล สถานภาพโสด มีอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน/รับจ้าง และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายระหว่าง 21-30 ปี ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในเอเชีย มีสถานภาพโสด มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน/รับจ้าง และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-80,000 บาท

ผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมกลับมาท่องเที่ยวโบราณสถาน พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 บาท และใช้เวลาในการท่องเที่ยว 1 วันส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือเท่ากับ $500 และใช้เวลาในการท่องเที่ยว 1 วัน สวนผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการกลับมาท่องเที่ยวโบราณสถาน พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติส่วนใหญ่มีแนวโน้มในการเดินทางกลับมาท่องเที่ยวอีก และจะบอกต่อกับบุคคลอื่นให้มาท่องเที่ยว ส่วนผลการวิเคราะห์ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยในการท่องเที่ยวโบราณสถานของนักท่องเที่ยวชาวไทย พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยมีความคิดเห็นต่อปัจจัยในการท่องเที่ยวโดยรวมในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านสถานที่ท่องเที่ยว ด้านการสื่อสารข้อมูล และด้านวัฒนธรรมและสังคมนักท่องเที่ยวชาวไทยมีความคิดเห็นในระดับมาก ส่วนด้านราคา/ค่าใช้จ่าย และด้านการบริการนักท่องเที่ยวชาวไทยมีความคิดเห็นในระดับปานกลาง

ผลการทดสอบสมมติฐาน ในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวชาวไทย พบว่าอายุมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการท่องเที่ยว ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และสถานภาพมีความสัมพันธ์กับแนวโน้มพฤติกรรมการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคต และมีความสัมพันธ์กับการบอกต่อกับบุคคลอื่น ๆ ให้มาท่องเที่ยว ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01 ในส่วนข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่าภูมิลำเนามีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการท่องเที่ยว ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05เพศมีความสัมพันธ์กับแนวโน้มพฤติกรรมการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคตและมีความสัมพันธ์กับการบอกต่อกับบุคคลอื่น ๆ ให้มาท่องเที่ยว ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ส่วนการทดสอบความสัมพันธ์ด้านระยะเวลาในการท่องเที่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการท่องเที่ยวโบราณสถานด้านแนวโน้มการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคต และด้านการบอกต่อกับบุคคลอื่น ๆ ให้มาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน และผลการทดสอบสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่า ใช้ระยะเวลาในการท่องเที่ยวแตกต่างกัน และการทดสอบสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยและสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ด้านแนวโน้มการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคต และด้านการบอกต่อกับบุคคลอื่น ๆ ให้มาท่องเที่ยว พบว่า ไม่แตกต่างกัน

ผลจากการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ แนะนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ๆ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวโบราณสถาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นที่ประจักษ์กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

DOWNLOAD

Comments are closed.