The Study of Ecotourism Service at KlongrangjakeCommunity, District Rangjake, Amphur Sena, Ayutaya Province

โดย จำปูน ศรเมฆ

ปี     2549

บทคัดย่อ (Abstract)

การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนคลองรางจระเข้ ตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นตามมาตรฐานที่ประกาศโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลุ่มประชากรที่ใช้ในการค้นคว้าอิสระครั้งนี้คือ เจ้าของบ้านพักแบบโฮมสเตย์ที่ให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่อยู่ในชุมชนคลองรางจระเข้, คณะกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คลองรางจระเข้ และนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชนคลองรางจระเข้ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ทั้งหมด 115 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ค่าคะแนนเฉลี่ยแบบค่ามัชฌิมเลขคณิต และค่าร้อยละ

ผลการค้นคว้าอิสระพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 36–45 ปี คิดเป็นร้อยละ 35.6 สถานภาพสมรส คิดเป็นร้อยละ 70.4 ระดับการศึกษาปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 72.2 ประกอบอาชีพเป็นพนักงาน/ลูกจ้าง คิดเป็นร้อยละ 41.7 และรายได้มากกว่า20,001 บาท คิดเป็นร้อยละ 45.2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลมาตรฐานการบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนคลองรางจระเข้ทั้ง 8 ด้าน อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมมากที่สุด เรียงตามลำดับจากมากไปหา น้อย ดังนี้ ด้านอาหารและโภชนาการมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 4.90 ด้านที่พักมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 4.75 ด้านการจัดการและด้านสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 4.72 ด้านการส่งเสริมการตลาดมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 4.52 ด้านกิจกรรมท่องเที่ยวมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 4.29 ด้านความปลอดภัยมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 4.05 ด้านมูลค่าเพิ่มมีคุณภาพและความเหมาะสมที่ค่าเฉลี่ย 3.84

ผลของการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยรวมของมาตรฐานโฮมสเตย์คลองรางจระเข้ ตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในระดับ 4.44 ซึ่ง เป็นโฮมสเตย์ที่มีมาตรฐานระดับดีเยี่ยม(เกณฑ์มาตรฐานโฮมสเตย์ไทยตามประกาศโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

นักท่องเที่ยวผู้เข้ามาพักที่โฮมสเตย์ได้ให้ข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ ดังนี้ ด้านความปลอดภัยควรเพิ่มการจัดเวรยามตรวจตราความเรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ, ด้านการจัดการต้องการข้อมูลกิจกรรมเพิ่มเติมในรายละเอียดต่าง ๆ และมีความประสงค์ในการเลือกกิจกรรมด้วยตนเองมากขึ้น, ด้านกิจกรรมท่องเที่ยวควรเพิ่มกิจกรรมให้มากขึ้น ในส่วนของกิจกรรมพื้นบ้านและท้องถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในท้องถิ่น,ด้านการเพิ่มมูลค่า ควรมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพิ่มเติมด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับมัคคุเทศก์ ซึ่งอาจมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน และด้านการส่งเสริมการตลาด ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้บุคคลทั่วไปรู้จักเพื่อจะเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากยิ่งขึ้น

DOWNLOAD