ระบบการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ

โดย ทัศนีย์ ฉัตรศักดารักษ์

ปีที่   5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยได้แยกกระบวนการสอบสวนฟ้องร้อง และการพิจารณาคดีในศาลออกจากกันตามหลักสากล โดยอัยการมีหน้าที่รับผิดชอบกลั่นกรองสำนวนการสอบสวน ตามหลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจอัยการสามารถใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี ตลอดจนสั่งสอบสวนเพิ่มเติมแต่ในทางปฏิบัติการสอบสวนฟ้องร้องคดีอาญาไทยต่างจากระบบอัยการสากล กล่าวคือพนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวน ส่วนพนักงานอัยการเป็นผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้นอัยการในฐานะผู้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ควรมีบทบาทในการกำกับดูแลการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 วรรคสาม มาตรา 141 วรรคสาม และมาตรา 143 วรรคสอง จะเห็นได้ว่าพนักงานอัยการสามารถเข้ามีส่วนร่วมและเข้าควบคุมการสอบสวนซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจสอบสวนฟ้องร้องนั้นเป็นกระบวนการเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 34 เป็นระบบการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ เนื่องจากพนักงานสอบสวนและอัยการต่างเป็นเจ้าพนักงานในการดำเนินคดีชั้นก่อนฟ้องเช่นเดียวกัน ซึ่งตามหลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ อัยการเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดี และหากพิจารณาในทางกลับกัน บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจอัยการในการตรวจสอบและควบคุมการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีการตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการเฉพาะภายในองค์กรชั้นก่อนฟ้องคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีระบบการตรวจสอบอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการดำเนินคดีชั้นก่อนฟ้อง

DOWNLOAD : ระบบการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ