มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานหญิงในภาคเกษตรกรรม

โดย สิวฤทธิ์ นิ่มกุล

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรม ทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมเป็นแรงงานที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อบริโภคภายในประเทศของประชากรและการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ปัจจุบันปัจจัยสำคัญในการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศได้แก่ แรงงานในภาคเกษตรกรรมประกอบกับลักษณะงานเกษตรกรรมเป็นงานที่มีสภาพการจ้างงาน และการทำงานที่แตกต่างไปจากการจ้างงานทั่วไป ซึ่งมีลักษณะเฉพาะและมีความหลากหลายซึ่งจำแนกเป็นงานหลักๆ ได้แก่ งานเพาะปลูก ดูแลพืชสวนพืชไร่ งานเลี้ยงสัตว์ กิจการปศุสัตว์ งานประมง นอกจากนี้งานเพาะปลูกยังแบ่งเป็นการทำนา ทำสวนและทำไร่ด้วย

ในภาคเกษตรกรรมแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานของหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีขีดจำกัดทางด้านสรีระวิทยา มีจุดอ่อนในด้านร่างกายหลายทางที่มีปัจจัยเสี่ยงในการได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานได้ง่ายกว่าแรงงานในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นชาย และโดยที่แรงงานหญิงมีหน้าที่เป็นทั้ง ภรรยา มารดาและเป็นแรงงานด้วย การได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุตร ครอบครัว และความเป็นอยู่ของครอบครัวเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่มีแรงงานหญิงในภาคเกษตรกรรมที่อยู่ในระหว่าง การตั้งครรภ์จำนวนมากที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดนั้น เป็นผลมาจากการใช้แรงงานหญิงในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะที่ต้องปฏิบัติงานหนัก ทำให้เกิดปัญหากับการให้ความคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นหญิงในภาคเกษตรกรรม

จากการศึกษาถึงสภาพและปัญหาของแรงงานหญิงในภาคเกษตรกรรม พบว่ามีปัญหาทั้งในด้านการไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และไม่ได้รับสวัสดิการสังคมตามระบบประกันสังคมที่ต้องมีการสมทบเงินเข้ากองทุน แม้ว่าจะได้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ.2547 ก็ตาม แต่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีข้อจำกัดที่ไม่อาจให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นแรงงานที่สำคัญของประเทศได้อย่างเหมาะสมในทุกๆ เรื่อง ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองแรงงานหญิงที่ต้องมีการให้ความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษแตกต่างจากแรงงานทั่วไป

ผู้เขียนจึงได้เสนอแนวความคิดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการให้ความคุ้มครองแรงงานหญิงในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องออกบทกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และการให้ความคุ้มครองแรงงานหญิงในงานภาคเกษตรกรรม เพื่อให้มีมาตรฐานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ความคุ้มครองในเรื่องลักษณะงานอันตราย การทำงานในเวลากลางคืน หรือการคุ้มครองแรงงานหญิงเมื่อตั้งครรภ์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนแน่นอนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ อันนำมาซึ่งความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นในสังคมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ต้องการให้การคุ้มครองแรงงานในทุกภาคส่วน

DOWNLOAD : มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานหญิงในภาคเกษตรกรรม