มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการประกันชีวิต

โดย กิตติศักดิ์ จันเส

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันชีวิตทั้งบริษัทผู้รับประกันชีวิตและผู้เอาประกันชีวิตทุกคน อันเป็นผลมาจากการมีการประกาศใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งปัจจุบันได้ประกาศใช้บังคับแล้วจำนวนสามฉบับและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกหนึ่งฉบับ กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ห้ามมิให้ผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคลเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นเว้นแต่จะได้รับความยินยอม จากเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิทธิความเป็นส่วนตัวซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งในปฏิญญาสากลได้กำหนดให้สมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศต้องให้ความคุ้มครองโดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศโดยประเทศไทยได้บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 35

กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลห้ามผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล มีข้อยกเว้นให้เปิดเผยได้ในบางกรณีหากการเปิดเผยนั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือหากได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล แม้ว่าบริษัทประกันชีวิตจะได้จัดให้มีความยินยอมขณะที่ขอเข้าทำสัญญาประกันชีวิตก็ตาม แต่หากมีข้อสงสัยว่าผู้ขอเอาประกันชีวิตจะมีการละเมิดหลักสุจริตอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith) เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยหรือไม่ ผู้รับประกันชีวิตจำเป็นต้องขอเข้าตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ผู้เอาประกันชีวิตเคยเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่เมื่อมีกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของข้อมูลดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลมักไม่อนุญาตให้ตรวจสอบได้ เพราะเกรงจะถูกฟ้องร้อง

จากการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พบว่ามีหลักการหรือแนวทางในการที่ให้มีการเปิดเปิดข้อมูลส่วนบุคคลได้หลายแนวทาง เช่น หลักการให้ความยินยอม(Volenti non fit injuria) และหลักความได้สัดส่วนโดยการพิจารณาหลักความได้สัดส่วนนั้น พิจารณาประกอบกับ หลักความเหมาะสม (Principle of Suitability) หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) หลักความสมดุล (Principle of Proportionality Stricto Sensu หรือ Theorie du bilan)

ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกล่าวคือ1) ออกพระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 24 ให้บริษัทประกันชีวิตสามารถขอตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพที่อยู่ในความครอบครองของโรงพยาบาลของรัฐได้2) แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549หมวด 4 ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 27 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 (3) (ช) แห่งพระราชบัญญัติผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพให้แก่บริษัทประกันชีวิตได้3) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลสามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพให้บริษัทประกันชีวิตได้4) เมื่อได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….แล้วให้มีการออกกฎกระทรวงตามความในมาตรา 28 (2) เพื่อให้ให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลสามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพให้บริษัทประกันชีวิตได้

DOWNLOAD : มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการประกันชีวิต