มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

โดย ศักดิ์เดช โพธิรัชต์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาปัญหาเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าศึกษาเนื่องจากปัจจุบันสภาพสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงมาผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ของโลก เพื่อส่งเสริมการค้าและปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของกลุ่ม และสามารถใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้ากับประเทศที่อยู่นอกกลุ่มได้ ซึ่งจากปัจจุบันการค้าเป็นไปแบบเสรี มีการค้าขายเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ โดยมีการนำเข้าและมีการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน ทำให้ประเทศไทยจำต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งแนวคิดดั้งเดิมของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้นได้นำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด(Strict Liability) มาใช้บังคับ เพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่ายที่มีความซับซ้อนและมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องต่อการผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้ามากมายหลายทอด จึงทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่สามารถนำสืบให้ชัดเจนได้ว่าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวเกิดขึ้นจากตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น อีกทั้งข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดก็อยู่ในความรับรู้ของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียวและข้อมูลบางอย่างก็เป็นข้อมูลทางวิทยาการและมีเทคนิคการผลิตขั้นสูง ทำให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปไม่สามารถทราบได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าแล้วเกิดความเสียหายขึ้น จึงควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

จากการศึกษาพบว่า ความเสียหายขึ้นอันเนื่องมาจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ หากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและมีความชัดเจนในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคหรือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ควรมีมาตรการทั้งก่อนการฟ้องคดีโดยนำหลักในการไกล่เกลี่ยประนีประนอม โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสื่อกลางในการไกล่เกลี่ยความเสียหายเพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าได้รับการเยียวยาความเสียหาย และนำหลักอนุญาโตตุลาการมาใช้ ซึ่งหลักการก่อนการฟ้องคดีนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างรวดเร็ว เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายและยังทำให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และหากตกลงกันไม่ได้จนต้องมีการฟ้องคดีก็ควรมีมาตรการที่แน่นอนชัดเจนในการกำหนดวิธีในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

ผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในการเยียวยาความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยนำหลักกฎหมายของต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อพัฒนากฎหมายของไทยให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและแนวทางในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้ได้มากที่สุด โดยวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อสะดวกแก่การพิจารณาและเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าย่อมเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและสังคมโดยรวม

DOWNLOAD : มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย