ปัญหาในการบังคับใช้บทบัญญัติว่าด้วยการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย

โดย อมรรัตน์ วงษ์ประสิทธิ์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ

กฎหมายล้มละลายมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่มุ่งลงโทษลูกหนี้เป็นเริ่มคำนึงถึงหลักความมีมนุษยธรรมและให้ความคุ้มครองลูกหนี้มากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ซึ่งสุจริตได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่(Fresh Start) ซึ่งการปล่อยให้ลูกหนี้ยังคงมีสถานะเป็นบุคคลล้มละลายต่อไปเป็นเวลานานไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด และการที่บุคคลเหล่านี้ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายเนื่องจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งบุคคลล้มละลายบางคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถซึ่งจะเป็นการเสียบุคคลากรโดยเปล่าประโยชน์หากปล่อยให้บุคคลเหล่านั้นต้องตกอยู่ในสภาวะบุคคลล้มละลายเป็นเวลานาน ซึ่งนานาประเทศต่างก็มีบทบัญญัติการปลดจากล้มละลายเพื่อให้ลูกหนี้พ้นจากสถานะการเป็นบุคคลล้มละลาย โดยประเทศไทยก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2547 ซึ่งการที่ลูกหนี้ได้รับการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายไม่ทำให้กระบวนการล้มละลายสิ้นสุดลงเช่นเดียวกับกรณีการยกเลิกการล้มละลาย เนื่องจากการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายนั้นมีผลเพียงให้บุคคลล้มละลายพ้นจากสถานภาพการเป็นบุคคลล้มละลายอันเป็นสถานะเฉพาะตัวเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนในบางประการ ทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ภายหลังลูกหนี้ปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายหรือลูกหนี้ที่ได้รับปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายมีหน้าที่ให้ความร่วมมือจัดการทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งการปลดจากล้มละลายตามกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายระบบจารีตประเพณี (Common Law)หรือประเทศที่ใช้กฎหมายระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่นเดียวกับประเทศไทย มีบทบัญญัติที่ชัดเจนกว่ากฎหมายล้มละลายของไทย นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับการตีความทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีหรือปรากฏขึ้นภายหลังลูกหนี้ปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งให้แก่บรรดาเจ้าหนี้หรือไม่ รวมทั้งกรณีที่มีเหตุผลพิเศษที่จะทำให้บุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่ใช่บุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถูกขยายระยะเวลาได้รับปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายเป็น 10 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น อาจได้รับปลดจากล้มละลายได้เร็วขึ้น ตามมาตรา 81/1 วรรคสอง (2) ซึ่งกรณีที่มีเหตุผลพิเศษซึ่งบุคคลล้มละลายจะได้ประโยชน์ตามเงื่อนไขของบทบัญญัตินี้มีลักษณะอย่างไรก็ยังเป็นปัญหาในการตีความเนื่องจากบทบัญญัติยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ทั้งนี้หากการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมายของไทยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนเช่นเดียวกับการปลดจากล้มละลายของต่างประเทศ ก็จะไม่เกิดปัญหาในการตีความกฎหมายและการบังคับใช้ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย

DOWNLOAD : ปัญหาในการบังคับใช้บทบัญญัติว่าด้วยการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย