ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาแฝง: ศึกษากรณีสินค้าประเภทให้โทษ

โดย พิรดา สุริโย

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
ในปัจจุบันเป็นยุคการค้าเสรี ที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างใดๆ ก็ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงหลักสุจริตในการประกอบธุรกิจเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากที่สุด และในการนำเสนอสินค้าต่อผู้บริโภค ก็จะต้องคำนึงถึงหลักสุจริตในการทำการโฆษณาสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูงประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้หลักวิชาการด้านการโฆษณา ทำการโฆษณาโดยใช้วิธีการโฆษณาแฝง โดยนำเสนอตราสินค้า โลโก้ ในลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างจากวิธีการโฆษณาเดิม โดยทำการโฆษณาแฝงผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ กระจายเสียง สื่ออิเล็คทรอนิกส์ ป้ายโฆษณา โดยมีเจตนาให้ผู้บริโภคจดจำตราสินค้า และเร่งเร้าให้เกิดการโฆษณาสินค้ามากขึ้นกว่าปกติ และเมื่อมีการทำการโฆษณาแฝงในสินค้าเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มกาแฟ เครื่องดื่มกาแฟผสมสารสกัดที่มีคุณสมบัติด้านความงาม ซึ่งเป็นสินค้าที่หากมีการบริโภคเกินความจำเป็นก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริโภคได้ สินค้าเหล่านี้จึงถือเป็นสินค้าประเภทให้โทษ ดังนั้น เมื่อมีการโฆษณาแฝงสินค้าประเภทให้โทษ จึงเป็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาแฝง

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาถึงปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาแฝง สินค้าประเภทให้โทษ และค้นหาแนวทางการแก้ไขกฎหมายของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการควบคุมกำกับดูแลการโฆษณา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการโฆษณา และมาตรการการลงโทษเกี่ยวกับการโฆษณาแฝง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำการโฆษณาสินค้าประเภทให้โทษ เพื่อให้เหมาะสมกับ
ประเทศไทย

จากการศึกษาพบว่า ความหมายของคำว่า “โฆษณา”ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีความหมายที่ไม่ครอบคลุมไปถึงโฆษณาแฝง จึงเป็นปัญหาของคำนิยามความหมายของคำว่าการโฆษณาแฝง อีกทั้งรัฐยังขาดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมการโฆษณาที่มีลักษณะโฆษณาแฝง และรูปแบบวิธีการโฆษณาแฝงที่เป็นการเฉพาะ และในเรื่องของการควบคุมเวลาในการโฆษณาที่มีการโฆษณาเกินกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และอาจทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ยังพบว่า มีการโฆษณาแฝงในสินค้าประเภทให้โทษอันได้แก่ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มกาแฟ เครื่องดื่มกาแฟผสมสารสกัดที่มีคุณสมบัติด้านความงาม ซึ่งเป็นการโฆษณาที่แฝงที่หลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การควบคุมโฆษณา ซึ่งทำให้เห็นว่ากฎหมายควบคุมโฆษณายังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้

จากการศึกษาถึงปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้ (1) เห็นควรมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาแฝงเป็นการเฉพาะ(2) เห็นควรบัญญัติความหมายของคำว่า “โฆษณา”ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้รวมถึงการโฆษณาแฝงด้วย (3) เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมลักษณะโฆษณาแฝงและรูปแบบโฆษณาแฝง (4) เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 8 ประกอบกับมาตรา 23 ให้นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงให้การโฆษณาสินค้า หรือบริการทางสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่ใช้เวลาเกินสมควรเป็นวิธีการโฆษณาอันอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค (5) เห็นควรกำหนดให้โฆษณาที่ใช้เวลาโฆษณาเกินกำหนดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นการโฆษณาที่ก่อให้เกิดความรำคาญ (6) เห็นควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มบทลงโทษอันเกี่ยวกับการโฆษณาแฝงให้สูงขึ้น

DOWNLOAD : ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาแฝง: ศึกษากรณีสินค้าประเภทให้โทษ