ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

โดย ธานินทร์ เปรมปรีดิ์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
ตามสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่านิติบุคคลสามารถที่จะถูกลงโทษได้ แต่ส่วนของการกำหนดโทษหรือการบังคับใช้โทษทางอาญาต่อนิติบุคคลยังคงมีปัญหา เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจง โดยเฉพาะความผิดอันเกิดจากการสมยอมในการเสนอราคา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ เนื่องจากโทษทางอาญาถือเป็นผลร้ายที่สำคัญของสภาพบังคับทางอาญา ซึ่งการลงโทษนิติบุคคลเมื่อพิจารณาถึงโทษที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 โดยกำหนดโทษสำหรับลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดไว้ ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริมทรัพย์สิน ซึ่งจะเห็นได้ว่า โทษที่บัญญัติไว้ดังกล่าวมุ่งหมายที่จะลงโทษตัวบุคคลธรรมดามากกว่าลงโทษนิติบุคคล ดังนั้น โทษตามมาตรา 18 หากนำมาปรับใช้กับนิติบุคคลในสภาพการณ์ปัจจุบันมีเพียงโทษปรับและโทษริบทรัพย์สินเท่านั้นที่สามารถบังคับได้กับนิติบุคคลซึ่งไม่อาจยับยั้งการกระทำความผิดของนิติบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนิติบุคคลที่ได้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงการลงโทษทางอาญาของนิติบุคคลในกฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือว่านิติบุคคลไม่สามารถมีความผิดในทางอาญาเป็นการทั่วไปได้ แต่จะมีความผิดได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ลงโทษนิติบุคคลได้เท่านั้น และโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลก็ต้องเป็นโทษที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา โดยศาลจะไม่พิพากษาลงโทษนิติบุคคลทางอาญาอย่างเด็ดขาด เว้นแต่จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ให้นิติบุคคลต้องรับผิดอย่างชัดแจ้งหรือโดยปริยายเท่านั้น ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่านิติบุคคลมีความผิดทางอาญาได้โดยหากการกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำโดยองค์กรหรือผู้แทนของนิติบุคคล ตามหลัก Alter Ego Doctrineโดยถือว่านิติบุคคลกระทำความผิดนั้นเอง ยกเว้นความผิดที่โดยสภาพแล้วนิติบุคคลไม่สามารถกระทำความผิดได้

สำหรับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกันกับประเทศฝรั่งเศสกล่าวคือ นิติบุคคลไม่สามารถทำผิดและรับโทษทางอาญาได้ เว้นแต่ มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนหรือโดยปริยายว่าให้นิติบุคคลรับผิดทางอาญาในความผิดนั้นๆ แต่เมื่อพิจารณาหลักการเรื่องความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลของประเทศไทย ยังขาดความชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดตามพระรา ชบัญญัติว่าด้วยควา มผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนของนิติบุคคลเข้ามาเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ โดยมิได้มีการกำหนดโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลอันส่งผลถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และเมื่อพิจารณาแนวคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาให้นิติบุคคลมีความผิดทางอาญาได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นการกระทำโดยตัวแทนของนิติบุคคลซึ่งได้กระทำไป ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลและเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลเอง นอกจากนี้ความผิดอันเกิดจากการสมยอมในการเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือที่เรียกว่า “ฮั้ว” ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายโยงใยร่วมกันกระทำความผิด แบ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ โดยการฉ้อโกงรัฐ ทำให้รัฐได้รับความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (economic crime)ซึ่งอยากแก่การป้องกันและปราบปราม เพราะผู้ประกอบอาชญากรรมเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองมีตำแหน่งหน้าที่ มีความรู้ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือเป็นองค์กรเครือข่ายโดยอาศัยความไว้วางใจจากสังคม ซึ่งเรียกว่า อาชญากรคอเชิ้ตขาว (white collar crime)ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า หากการลงโทษทางอาญาสำหรับนิติบุคคลในความผิดที่นิติบุคคลกระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในการสมยอมการเสนอราคาได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดเจนในตัวบทกฎหมายและโทษนั้นมีความเหมาะสมกับผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลโดยคำนึงถึงสิ่งที่นิติบุคคลนั้นๆ หวงแหนเป็นหลักแล้ว ผลของการลงโทษย่อมสามารถยับยั้งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรืออาชญากรรมที่เกิดจากนิติบุคคลโดยเฉพาะการฮั้วประมูลได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ในการกระทำความผิดที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดหรือ มีส่วนรวมในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ศาลอาจจะต้องใช้วิธีการอื่นรวมด้วยในการลงโทษแก่นิติบุคคล โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งสามารถใช้กับนิติบุคคลได้ กล่าวคือ การห้ามเข้าเขตกำหนด การเรียกประกันทัณฑ์บน และการห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้นิติบุคคลที่กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐอีก

DOWNLOAD : ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542