การใช้อำนาจของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551:ศึกษาเฉพาะกรณีการค้น

โดย พัชรา อิศราภรณ์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจในการออกหมายค้น เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับหลักประสิทธิภาพของการปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ออกหมายค้นได้ เปลี่ยนเป็นให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกหมายค้นเพื่อให้มีการกลั่นกรองโดยการตรวจสอบพยานหลักฐานและเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องตรวจค้นที่รโหฐาน อันสอดคล้องกันกับหลักสากลที่ใช้กันอยู่ในนานาอารยประเทศในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจโดยมิชอบแต่อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจเพื่อเป็นเครื่องมือแก่เจ้าพนักงานในการค้นหาพยานหลักฐาน และนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม กฎหมายจึงได้ให้อำนาจในการค้นโดยไม่ต้องมี หมายค้น ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหลายฉบับที่ได้ให้อำนาจในการค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 61(2) ได้ให้อำนาจนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจ ค้น อายัด หรือยึดภาพยนตร์วีดิทัศน์ หรือสื่อโฆษณาในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และในมาตรา 61 วรรคท้ายยังได้กำหนดว่า การค้นโดยหลักจะต้องมีหมายค้น เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้หลักฐานดังกล่าวจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ให้ดำเนินการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น จากการศึกษาพบว่าการให้อำนาจแก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการค้นในสถานประกอบ การโดยไม่จำต้องมีหมายค้นจากศาลนั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือขอบเขตในการใช้อำนาจที่ชัดเจนเพียงพอ และการให้อำนาจในการค้นโดยไม่จำต้องมีหมายค้นนั้นเป็นการให้อำนาจมากเกินความจำเป็นเพราะการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์มิได้เป็นความผิดที่มีผลกระทบต่อความมั่งคงของรัฐหรือเป็นความผิดที่มีลักษณะร้ายแรง ดังนั้นนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้อย่างอิสระที่จะก้าวล่วงเข้าไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการครอบครองสถานที่โดยปราศจากองค์กรอื่นควบคุมตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นการใช้อำนาจเข้าตรวจค้นโดยไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงพอส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการถูกคุกคามหรือถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพเป็นการเปิดช่องให้อาจจะมีการใช้อำนาจไม่สุจริต โดยการกลั่นแกล้งรังแกหรือปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนได้ตามอำเภอใจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ให้การรับรองไว้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นควรที่จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือขอบเขตในการใช้อำนาจในการค้นของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ประสงค์จะมุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหลายฉบับได้ให้อำนาจในการค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ

DOWNLOAD : การใช้อำนาจของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551:ศึกษาเฉพาะกรณีการค้น