Cognition and Behavior of People in Bangkok Metropolitan Area on Global Warming Solutions

โดย อุดม สายะพันธุ์, สุทธิ ชัยพฤกษ์

ปี     2551

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “ความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อโลกหรือประเทศไทย ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกรุงเทพมหานคร แหล่งข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน และพฤติกรรมในการมีส่วนช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน กลุ่มตัวอย่าง คือ ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-test) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient)

จากการวิจัยสรุปได้ว่า ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 26-35 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี รายได้ต่อเดือนต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาท และมีสถานภาพโสด

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนในระดับปานกลาง และมีความคิดเห็นว่าภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างมากในปัจจุบัน โดยมีความคิดเห็นว่าการใช้พลังงานเชื้อเพลงของระบบการขนส่งมวลชนและการใช้รถยนต์ของประชาชนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานครมากที่สุด รองลงมา คือ การทิ้งขยะมูลฝอยทำให้น้ำเน่าเสีย การใช้พลังงานไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครมีน้อยเกินไป และการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของระบบการขนส่งทางอากาศ ตามลำดับ โดยผู้ตอบแบบสอบถามมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยการดับไฟก่อนออกจากห้อง และการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้ การปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อเลิกใช้งาน การถอดปลั๊กไฟฟ้าหลังใช้งาน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อเดิมใหม่ได้ การซื้อสินค้าที่มีป้ายฉลากเขียว/ป้ายประหยัดไฟเบอร์ 5 การใช้กระดาษทั้งสองหน้าหรือ ประหยัดการใช้กระดาษ เป็นต้น ส่วนการทดสอบสมมติฐานสรุปได้ดังนี้

1.ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีระดับการศึกษา และรายได้ต่อเดือนแตกต่างกัน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5

2.ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีเพศ และระดับการศึกษาแตกต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อโลกหรือประเทศไทยแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

3.ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีเพศ ระดับการศึกษา และรายได้ต่อเดือนแตกต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกรุงเทพมหานครแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5

4.ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอายุ ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน และสถานภาพแตกต่างกันได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนจากอินเทอร์เน็ตแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5

5.ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการมีส่วนช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ การไม่เปิดน้ำทิ้งขณะล้างจานหรือแปรงฟัน การดับไฟก่อนออกจากห้อง และการไม่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือข้ามคืน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5

สำหรับข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้คือ กรุงเทพมหานครจะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน และการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ให้มากขึ้นเพื่อจะได้เข้าถึงประชาชนทุกลุ่ม พยายามกระตุ้นประชาชนให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้มีส่วนสร้างปัญหาโลกร้อนให้น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดไม่ให้ประเทศไทยและโลกประสบกับภัยพิบัติอันเกิดจากปัญหาภาวะโลกร้อน และให้ประชากรโลกดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป

DOWNLOAD : Cognition and Behavior of People in Bangkok Metropolitan Area on Global Warming Solutions