Customer Loyalty toward Discount Stores in Pathum thani

โดย ขวัญใจ รัตนมงคล

ปี     2551

บทคัดย่อ (Abstract)

การค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความจงรักภักดีของผู้บริโภคในจังหวัดปทุมธานีที่มีต่อธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยทางการตลาด ภาพลักษณ์ขององค์กรทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และความน่าเชื่อถือที่มีผลต่อความจงรักภักดีของผู้บริโภค และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการซื้อสินค้าเฮาส์แบรนด์และความจงรักภักดีที่มีต่อธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติขนาดใหญ่ของผู้บริโภค โดยผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 402 ตัวอย่าง จากผู้บริโภคที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ซื้อสินค้าในดิสเคาท์สโตร์ในเขตจังหวัดปทุมธานี สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด การวิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้การทดสอบค่าทีแบบอิสระ(t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient) และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis)

ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง มีอายุ 21-30 ปี สถานภาพโสด ระดับการศึกษาปริญญาตรี มีอาชีพแม่บ้าน/พ่อบ้าน มีรายได้เฉลี่ยของครอบครัวต่อเดือน 20,000-29,999 บาท และมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน 2 คน ด้านพฤติกรรมการซื้อสินค้า ส่วนใหญ่จะมีเหตุผลสำคัญที่สุดที่เลือกซื้อคือความสะดวกในการเดินทาง ช่วงเวลาที่นิยมมาเลือกซื้อสินค้า วันหยุด เวลา 12.00-18.00 น. ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ 501-1,000 บาทต่อครั้ง ประเภทของสินค้าที่เลือกซื้อเป็นประจำ คืออาหารแห้งและเครื่องปรุงรส ต้องการให้มีการส่งเสริมการขายในรูปแบบการลดราคา และใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อครั้ง ในการซื้อสินค้าและบริการ

ผลการวิเคราะห์ทัศนคติทางด้านปัจจัยทางการตลาด พบว่า ผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อปัจจัยทางการตลาดโดยรวม ในระดับเห็นด้วย ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม พบว่า ผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ในระดับเห็นด้วย ด้านความน่าเชื่อถือ พบว่า ผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อความน่าเชื่อถือ ในระดับ เฉยๆ ผลการวิเคราะห์ทัศนคติ ด้านพฤติกรรมที่มีต่อสินค้าเฮาส์แบรนด์ พบว่า ผู้บริโภค ส่วนใหญ่เคยซื้อสินค้าเฮาส์แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นของใช้ประจำวัน ด้านการซื้อสินค้าเฮาส์แบรนด์ ผู้บริโภคมีความคิดเห็น ในระดับเห็นด้วย
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า อายุ อาชีพ และรายได้ ที่แตกต่างกันมีความจงรักภักดีแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติทางสถิติ 0.05
ปัจจัยทางการตลาด ภาพลักษณ์ขององค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และความน่าเชื่อถือ มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี ปัจจัยทางการตลาดด้านบุคลากร/พนักงาน มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r)เท่ากับ 0.335 ด้านผลิตภัณฑ์ มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.361 ด้านส่งเสริมการตลาด มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.387 ด้านลักษณะทางกายภาพ มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.414 ด้านกระบวนการบริการ มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.427 ด้านสถานที่/การจัดจำหน่าย มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r)เท่ากับ 0.437 ด้านราคา มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.480 ปัจจัยภาพลักษณ์ขององค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r)เท่ากับ 0.307 และด้านความน่าเชื่อถือ มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.336
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรมากกว่า 2 ตัว โดยการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ(Multiple Regression Analysis) พบว่า มีความสัมพันธ์ต่อความจงรักภักดี โดยเรียงตามลำดับความสัมพันธ์ดังนี้ ปัจจัยทางการตลาดด้านสถานที่/การจัดจำหน่าย ด้านความน่าเชื่อถือ ด้านราคาด้านกระบวนการบริการ และด้านลักษณะทางกายภาพ มีความสัมพันธ์กับความจงรักภักดี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ความจงรักภักดีมีความสัมพันธ์กับการซื้อสินค้าเฮาส์แบรนด์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ (r) เท่ากับ 0.258

DOWNLOAD : Customer Loyalty toward Discount Stores in Pathum thani