Factors Affecting Usage of Biological Wastewater Treatment in Agro-Industry

โดย ปฏิมา เมษประสาท

ปี     2551

บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพในอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ และอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งปัจจัยที่ทำการศึกษาประกอบไปด้วย ปัจจัยลักษณะโรงงานและลักษณะน้ำเสีย ได้แก่ ประเภทของอุตสาหกรรม ทุนจดทะเบียนบริษัท ระยะเวลาดำเนินกิจการ กำลังแรงม้าเครื่องจักร กำลังการผลิตปริมาณน้ำเสียเข้าระบบบำบัด และค่าความสกปรกของน้ำเสีย (BOD) และปัจจัยลักษณะทั่วไปได้แก่ ราคาที่ดินและพื้นที่ดิน ความยุ่งยากของระบบ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการบำบัด และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากระบบ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คือ โรงงานเยื่อและกระดาษ จำนวน 20 โรงงาน และโรงงานน้ำตาล จำนวน 28 โรงงาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ และ Chi-square

โรงงานเยื่อและกระดาษส่วนใหญ่ มีทุนจดทะเบียน 100 – 500 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินกิจการมากกว่า 20 ปี มีกำลังแรงม้าเครื่องจักร 10,000 – 100,000 แรงม้า มีกำลังผลิตมากกว่า 100,000ตันต่อปี มีปริมาณน้ำเสียน้อยกว่า 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน และมีค่า BOD อยู่ในช่วง 200 – 500 มก.ต่อลิตรส่วนโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ มีทุนจดทะเบียน 100 – 500 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินกิจการมากกว่า20 ปี มีกำลังแรงม้าเครื่องจักรมากกว่า 200,000 แรงม้า มีกำลังผลิตมากกว่า 100,000 ตันต่อปี มีปริมาณน้ำเสียน้อยกว่า 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน และมีค่า BOD มากกว่า 1,000 มก.ต่อลิตร

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ ได้แก่ ประเภทของอุตสาหกรรมโดยที่อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษส่วนใหญ่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพระบบตะกอนเร่งในขณะที่อุตสาหกรรมน้ำตาลส่วนใหญ่ใช้ระบบบ่อผึ่ง และสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลพบว่า กำลังการผลิตและปัจจัยด้านค่าก่อสร้างระบบบำบัด มีผลต่อการเลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ

งานวิจัยที่ควรศึกษาต่อไป อาจศึกษาแนวทางในการป้องกันหรือลดมลพิษ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากโรงงานที่เป็น Best practices ของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อนำมาปฏิบัติและเป็นแนวทางในการออกแบบระบบ

DOWNLOAD : Factors Affecting Usage of Biological Wastewater Treatment in Agro-Industry