Factors Conducive to MBA Study and the Real Needs

โดย ศิริวรรณ ซำศิริพงษ์

ปี     2551

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจและความต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ของผู้สนใจศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ยังมิได้ศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจำนวน 400 คน ประกอบด้วยผู้สนใจศึกษาต่อที่เป็นบุคคลทั่วไปที่มีประสบการณ์การทำงานและนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับสถิติที่ใช้เป็นเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ Chi-square test, Independent t-test, One-way ANOVA และ Pearson Product Moment Correlation Coefficient

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 21-30 ปีมีวุฒิการศึกษาบริหารธุรกิจบัณฑิต ประกอบอาชีพเป็นพนักงานองค์กรธุรกิจ มีประสบการณ์การทำงาน 10 ปี ขึ้นไป สนใจที่จะศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตในสาขาการจัดการทั่วไปรูปแบบของหลักสูตรที่ให้ความสนใจคือ Executive-MBA และมีความต้องการรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นกิจกรรมและการปฏิบัติ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 21-30 ปี กำลังศึกษาในคณะบริหารธุรกิจ ผู้ให้การสนับสนุนทางการศึกษาคือบิดามารดา มีความสนใจที่จะศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตในสาขาการจัดการวิศวกรรมธุรกิจ รูปแบบของหลักสูตรที่สนใจคือ Young-MBA และมีความต้องการรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการสนทนาโต้ตอบแสดงความคิดเห็น ส่วนการวิจัยด้านปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจในการศึกษาต่อพบว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีมีระดับการจูงใจจากปัจจัยทางจิตวิทยาและปัจจัยทางการตลาดในระดับมาก สำหรับบุคคลทั่วไปมีระดับการจูงใจจากปัจจัยทางจิตวิทยาในระดับปานกลาง และมีระดับการจูงใจจากปัจจัยทางการตลาดในระดับมาก

สำหรับการทดสอบความต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาโท พบว่า เพศมีความสัมพันธ์กับสาขาของ MBA ที่สนใจศึกษาต่อ ช่วงเวลาที่ต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอน ลักษณะรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องการ และชนิดของงานค้นคว้าวิจัยที่จะเลือกทำ อายุมีความสัมพันธ์กับสาขาของ MBA ที่สนใจศึกษาต่อและรูปแบบของหลักสูตรที่สนใจศึกษา อาชีพมีความสัมพันธ์กับสาขาของ MBA ที่สนใจศึกษาต่อ รูปแบบของหลักสูตรที่สนใจศึกษา ลักษณะรูปแบบการเรียนการสอน
ที่ต้องการ และโปรแกรมเสริมความรู้ก่อนเรียนที่ต้องการ พื้นฐานการศึกษามีความสัมพันธ์กับสาขาของ MBA ที่สนใจศึกษาต่อ ช่วงเวลาที่ต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนและชนิดของงานค้นคว้าวิจัยที่จะเลือกทำ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนมีความสัมพันธ์กับรูปแบบของหลักสูตรที่สนใจศึกษาช่วงเวลาที่ต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอน และโปรแกรมเสริมความรู้ก่อนเรียนที่ต้องการส่วนประสบการณ์การทำงานมีความสัมพันธ์กับสาขาของ MBA ที่สนใจศึกษาต่อ รูปแบบของหลักสูตรที่สนใจศึกษา ลักษณะรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องการ และโปรแกรมเสริมความรู้ก่อนเรียนที่ต้องการ สำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพทั่วไปกับความต้องการในการศึกษาต่อ พบว่า อายุ พื้นฐานการศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันมีความต้องการในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทในอนาคตแตกต่างกัน ส่วนพื้นฐานการศึกษาและรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่แตกต่างกันมีความต้องการที่จะศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตแตกต่างกัน และอาชีพและประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันมีความต้องการที่จะศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(คลองหก)แตกต่างกัน

การวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพทั่วไปกับปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจในการศึกษาต่อพบว่า อาชีพที่แตกต่างกันมีระดับแรงจูงใจทางปัจจัยทางจิตวิทยาแตกต่างกัน และพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกันมีระดับแรงจูงใจทางปัจจัยทางการตลาดแตกต่างกัน ส่วนการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทกับปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจในการศึกษาต่อพบว่า ความต้องการในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทในอนาคต ความต้องการที่จะศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และความต้องการที่จะศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(คลองหก) มีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจทั้งปัจจัยทางจิตวิทยาและปัจจัยทางการตลาด

DOWNLOAD : Factors Conducive to MBA Study and the Real Needs