Preparation of Biodegradable Plastic of Glutinous Starch Blend with Plastic and Application in Textile

โดย อรทัย ตั้งสิรินฤนาท, อำนวย ลาภเกษมสุข, นที ศรีสวัสดิ์ และอารียา ตงสาลี

ปี 2552

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการผสมพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูงกับแป้งข้าวเหนียวและ กลีเซอรอลและเพื่อใช้เป็นพลาสติกย่อยสลายได้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในงานสิ่งทอ โดยมีส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียว 10% , 20% , 30% , 40% โดยน้ำหนักและปริมาณกลีเซอรอลที่ 5%, 10%, และ15% โดยน้ำหนักผสมลงในเครื่องอัดรีดเกลียวหนอนเดี่ยว โดยการศึกษามุ่งเน้นไปที่ส่วนผสม ขบวนการขึ้นรูป สมบัติเชิงกล โครงสร้าง และสมบัติการย่อยสลายทางธรรมชาติ พบว่าปริมาณของแป้งข้าวเหนียวมีผลทำให้ ความต้านทานแรงดึง และการยืดตัวที่จุดขาด การบวมตัวของพอลิเมอร์มีแนวโน้มลดลงตามปริมาณของแป้งข้าวเหนียวที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มปริมาณแป้งจะยิ่งทำให้แรงยึดเหนียวระหว่างส่วนของแป้งกับPE ลดลงอย่างมาก เมื่อพอลิเมอร์ผสมได้รับแรงจึงยืดตัวได้น้อย และ ค่ามอดูลัสจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณของแป้งข้าวเหนียวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากแป้งเป็นสารที่มีความเป็นผลึกสูงการเพิ่มปริมาณแป้งจะยิ่งทำให้ค่ามอดูลัสของวัสดุผสมมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาอิทธิพลของปริมาณกลีเซอรอลพบว่าความต้านทานแรงดึง และมอดูลัส ของพอลิเมอร์มีแนวโน้มลดลงตามปริมาณของกลีเซอรอลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกลีเซอรอลเป็นสารลดความเป็นผลึก(Plasticized) ทำให้แป้งมีความเป็นผลึกลดลงส่งผลให้มีค่ามอดูลัสต่ำลงและค่าการยืดตัวที่จุดขาด และค่าการบวมตัวของพอลิเมอร์มีแนวโน้มสูงขึ้นตามปริมาณกลีเซอรอลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากกลีเซอรอลเป็นสารลดความเป็นผลึก (Plasticized) ทำให้แป้งเกิดสถานะเหนียวหนืด (Gelatin) ส่งผลให้สมบัติการยืดของพอลิเมอร์ผสมมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อปริมาณแป้งมากขึ้นและจากการศึกษาการย่อยสลายทางธรรมชาติพบว่าพอลิเมอร์ผสมที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียวมากจะมีเปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักการย่อยสลายที่สูงกว่า พอลิเมอร์ผสมที่มีแป้งข้าวเหนียวผสมอยู่น้อย เมื่อนำไปขึ้นรูปเป็นเส้นใยพบว่ายังไม่แข็งแรงเท่าทีควร จำเป็นต้องมีการเติมสารช่วยผสม เพื่อทำให้แป้งกับพอลิเอทิลีน เข้ากันได้ได้ดียิ่งขึ้น

DOWNLOAD : การเตรียมพลาสติกที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพที่ได้จากแป้งข้าวเหนียวผสมกับพลาสติกและการประยุกต์ใช้ในงานสิ่งทอ