Communication Problem between The Superior and Subordinate A case study : A government Official of The Office of Sakon Nakhon Educational Service Area 3

โดย สุปัญนา เจริญสุข

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ประชากรจากข้าราชการสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 3 ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบจำแนกทางเดียว(One-Way ANOVA) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson Correlation Coefficient) ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา จำนวน 150 ราย และกลุ่มตัวอย่างผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใต้บังคับบัญชา จำนวน 335 ราย รวมทั้งสิ้น 485 ราย ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
1. กลุ่มตัวอย่างที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ที่มีปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลแตกต่างกัน มีปัญหาการสื่อสารไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อจำแนกตามปัญหาการสื่อสารจะพบว่า ความแตกต่างด้านสถานภาพการสมรสและระดับการศึกษา ทำให้ผู้บังคับบัญชามีปัญหาการสื่อสารด้านสภาพแวดล้อมด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทัศนคติ ค่านิยมและวัฒนธรรม การเปิดใจกว้างการสนับสนุนเกื้อกูลคู่สนทนาและความเสมอภาคในการติดต่อสื่อสารแตกต่างกัน
กลุ่มตัวอย่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ใต้บังคับบัญชา ที่มีปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลแตกต่างกัน มีปัญหาการสื่อสารไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อจำแนกตามปัญหาการสื่อสารจะพบว่า ความแตกต่างด้านอายุและระดับตำแหน่ง ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีปัญหาการสื่อสารด้านการเห็นอกเห็นใจ การสนับสนุนเกื้อกูลคู่สนทนา ความเสมอภาคในการติดต่อสื่อสาร ด้านสภาพแวดล้อมด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทัศนคติ ค่านิยมและวัฒนธรรม การเปิดใจกว้างแตกต่างกัน
2. กลุ่มตัวอย่างที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ที่มีปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลแตกต่างกันมีความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อจำแนกความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจะพบว่า สถานภาพการสมรสและระดับการศึกษา ทำให้ผู้บังคับบัญชามีความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสัมพันธภาพระหว่าง
ผู้ใต้บังคับบัญชา ทักษะการสื่อสารและการใช้ช่องทางการสื่อสารแตกต่างกัน
กลุ่มตัวอย่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ใต้บังคับบัญชา ที่มีปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลแตกต่างกันมีความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อจำแนกความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจะพบว่า เงินเดือน ระยะเวลาในการทำงานและระดับตำแหน่ง ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการใช้ช่องทางการสื่อสาร ความสัมพันธภาพระหว่างผู้บังคับบัญชาและทักษะการสื่อสารแตกต่างกัน
3. ปัญหาการสื่อสารของผู้บังคับบัญชามีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ (γ= .100) และพบว่าปัญหาการสื่อสารของผู้บังคับบัญชาในด้านทัศนคติ ค่านิยมและวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ใต้บังคับบัญชาสูงกว่าปัญหาการสื่อสารของผู้บังคับบัญชาอีกห้าด้าน โดยมีค่าสัมประสิทธิ
สหสัมพันธ์ (γ= .121) รองลงมาเป็นปัญหาการสื่อสารในด้านสภาพแวดล้อมด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ (γ= .100) และอันดับต่ำสุดได้แก่ปัญหาการสื่อสารด้านการสนับสุนนเกื้อกูลคู่สนทนา ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ (γ= .042)

ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ผู้บังคับบัญชาควรจะสร้างทัศนคติที่ดี มีค่านิยมต้องตามวัฒนธรรมท้องถิ่นยอมรับและเปิดใจให้กว้าง เพื่อปรับลดปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาให้น้อยลงอย่างไรก็ดี หากต้องการนำผลการศึกษานี้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนครเขต 3 จักต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านอื่น ๆ ในสังกัดอย่างครอบคลุม

ปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชากรณีศึกษา : ข้าราชการสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 3