Customers’Satisfaction with Services of the Printing House of Thammasat University

โดย ตริสลา ชาตริยานุโยค

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการใช้บริการโรงพิมพ์ฯ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ บุคคลที่เคยใช้บริการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ จำนวนทั้งหมด 400 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างทำการทดสอบค่าที(Independent t-test) กับกลุ่มตัวอย่างที่มี 2 กลุ่ม การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีมากกว่า 2 กลุ่ม สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows

ผลวิเคราะห์ทางด้านประชากรศาสตร์ พบว่าส่วนมากเป็นเพศหญิง อายุ 30 ปี แต่ไม่ถึง 40ปี มีการศึกษาส่วนมากอยู่ในระดับปริญญาตรี ปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการ ตำแหน่ง ครู อาจารย์และมีรายได้มากกว่า 10,001 แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ลักษณะการใช้บริการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างเคยใช้บริการมากกว่า 5 ครั้ง ส่วนมากจะพิมพ์โปสเตอร์ และพิมพ์งานโดยผ่านพนักงานการตลาดของโรงพิมพ์ด้านความคาดหวังพบว่า ด้านผลิตภัณฑ์กลุ่มตัวอย่างมีความคาดหวังในลักษณะสีสันของการออกแบบงานพิมพ์มากที่สุด ด้านราคามีความคาดหวังให้มีราคาต่ำกว่าคู่แข่งขัน ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายมีความคาดหวังให้มีพนักงานการตลาดให้คำแนะนำ และด้านการส่งเสริมการขายต้องการให้มีกิจกรรมส่งเสริมการขายในโอกาสต่าง ๆ มากที่สุด

ด้านความพึงพอใจ พบว่า ด้านผลิตภัณฑ์กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจลักษณะสีสันของการออกแบบงานพิมพ์ ด้านราคามีความพึงพอใจการให้เครดิตเทอมในการชำระเงิน ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย มีความพึงพอใจด้านการบริการนอกสถานที่และด้านการส่งเสริมการขาย กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจให้มีการลดราคาตามโอกาสต่าง ๆ มากที่สุด
          ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า กลุ่มตัวอย่างเพศชายและหญิงมีความพึงพอใจในการใช้บริการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านการส่งเสริมการขายแตกต่างกัน
          ระดับการศึกษาที่ต่างกัน มีผลต่อระดับความพึงพอใจด้านราคาจากการให้บริการของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่างกัน
          หน่วยงานที่ต่างกัน มีผลต่อระดับความพึงพอใจด้านราคาจากการให้บริการของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่างกัน
          ตำแหน่งงานที่ต่างกัน มีผลต่อระดับความพึงพอใจด้านผลิตภัณฑ์และด้านราคาจากการให้บริการของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่างกัน
          รายได้ต่อเดือน ที่ต่างกันมีผลต่อระดับความพึงพอใจด้านราคาจากการให้บริการของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่างกัน
          ลักษณะงานที่ใช้บริการที่ต่างกันมีผลต่อระดับความพึงพอใจด้านผลิตภัณฑ์จากการให้บริการของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่าง
          ความคาดหวังของผู้ใช้บริการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการขาย มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจด้านราคาและความพึงพอใจรวม จากการให้บริการของโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความพึงพอใจในการใช้บริการโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์