The Study of Parents’ Satisfaction in Sending Offsprings to Study in Private Vocational Education School: A Case Study of Technology Veeraphat School in Nakhonnayok Province

โดย รพีพัฒน์ สูญยี่ขันธ์

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ ในด้านวิชาการ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการบริการ และด้านภาพลักษณ์ของโรงเรียน ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลทางด้านเพศ และสถานภาพกับความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ และเพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ทางด้านวิชาการ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการบริการ และด้านภาพลักษณ์ของโรงเรียน โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน สาขาวิชานักเรียนในความปกครองหลักสูตรนักเรียนในความปกครอง เวลาเรียนของนักเรียนในความปกครอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ปกครอง จำนวน 204 คน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ ได้แก่ การแจกแจงค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานโดยใช้ การแจกแจงไคสแควร์เพื่อทดสอบหาค่าความสัมพันธ์ และการทดสอบค่าที การวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว การทดสอบสมมติฐานได้กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้ผลการศึกษาดังต่อไปนี้
1. ผู้ปกครองที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีสถานภาพสมรส มีอายุระหว่าง40-49 ปี มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว รายได้ต่อเดือน 10,001-15,000 บาทโดยเป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ มีนักเรียนในความปกครองเรียนอยู่ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และมีนักเรียนในความปกครองเรียนอยู่ในรอบเช้า (เวลา08.00-16.00 น.)
2. ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยผู้ปกครองมีความพึงพอใจในด้านการบริการมากที่สุด รองลงมาด้านวิชาการ ด้านการบริหารจัดการ และด้านภาพลักษณ์ของโรงเรียน ตามลำดับ
3. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลทางด้านเพศ และสถานภาพ กับความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ พบว่า เพศ และสถานภาพของผู้ปกครองไม่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
4. การเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ พบว่า อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน สาขาวิชานักเรียนในความปกครอง และเวลาเรียนของนักเรียนในความปกครองที่แตกต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ส่วนผู้ปกครองที่มีนักเรียนในความปกครองเรียนในหลักสูตรต่างกัน คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีความพึงพอใจต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์แตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 คือผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีความพึงพอใจสูงกว่าผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน กรณีศึกษา โรงเรียนเทคโนโลยีวีรพัฒน์ จังหวัดนครนายก