Key Success Factors of Small and Medium Entrepreneurs in Agricultural Industry the Case study of Chacherngsao

โดย รุ่งนภา ต่ออุดม

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ขอบเขตการศึกษาจะทำการศึกษาผู้ประกอบการค้าที่ประสบความสำเร็จ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวน 15 รายโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีความครอบคลุมความหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ได้ข้อมูลสรุปที่สะท้อนทุกสถานการณ์มีความสมบูรณ์ของข้อมูลเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ครั้งนี้ คือ แบบสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้างโดยทำการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตรภาคการค้าในจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ช่วงอายุที่ประสบความสำเร็จจะอยู่ที่ 41 – 50 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์ในการทำงาน 21-30 ปี เงินที่ลงทุนเมื่อเริ่มกิจการอยู่ที่ 1 – 9.9 ล้านบาท

ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตรภาคการค้าในจังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ปัจจัยด้านภาวะผู้นำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งหวังให้กิจการมีการเจริญเติบโต ผู้ประกอบการจะมีทักษะความสามารถในการทำงาน มีคุณลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการตัดสินใจ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและมีความซื่อตรงในการประกอบธุรกิจ มีพฤติกรรมของการเป็นผู้บริหารแบบมุ่งโครงสร้างงานเป็นหลัก แต่ในบางสถานการณ์ของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ผู้ประกอบการเองก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานแบบมุ่งความสัมพันธ์
2. ปัจจัยด้านการบริหารจัดการ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเกษตรเป็นผลมาจากความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์อันยาวนานทางการค้า มีการวางแผนในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับฤดูกาลในด้านการวางแผนทางการเงิน การจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการจะจำหน่ายผ่านตัวแทน หรือนายหน้า การบริการ จะมีบริการจัดส่งสินค้า ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงคุณภาพของสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายเป็นหลัก การรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรของผู้ประกอบการจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทาง โทรทัศน์ วิทยุ วารสารทางการเกษตร จากเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐ
3. ปัจจัยด้านบุคลากร การจัดหาบุคลากร ของผู้ประกอบการ จะใช้แรงงานในพื้นที่,แรงงานต่างพื้นที่ และแรงงานต่างด้าว อัตราค่าจ้าง จ่ายจะแบ่งเป็น ลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างรายวัน ผลตอบแทนพิเศษ ที่ผู้ประกอบการจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เป็นรูปของตัวเงินได้แก่ ค่าล่วงเวลา, ค่ารักษาพยาบาล, โบนัส และเบี้ยขยัน เงินช่วยเหลือค่างานบวช, งานแต่ง และงานศพ และที่ไม่อยู่ในรูปของตัวเงิน ได้แก่ หอพัก และสวัสดิการร้านค้า ที่ขายสินค้าที่ผู้ประกอบการผลิตโดยที่ขายให้แก่ลูกจ้างในราคาถูก และการจัดให้ลูกจ้างไปฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้
4. ปัจจัยด้านนโยบายรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยสถานประกอบการที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะดำเนินการผลิตและค้าเครื่องจักรกลการเกษตรจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการค้นคว้าวิจัยเครื่องจักรกลเกษตร ผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตและค้าปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร จะได้รับการส่งเสริมจากสำนักอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าตามหลักการ 3R(Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการผลิตสินค้าต้องมีการควบคุมคุณภาพ ให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในส่วนของผู้ประกอบการค้าข้าวและเมล็ดพันธ์จะไม่เข้ารับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐ

ผลการวิจัยปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ในอุตสาหกรรมเกษตร ภาคการค้าในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านการจัดการเงินทุนหมุนเวียน รองลงมาคือ ปัญหาด้านคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน, ปัญหาด้านแรงงาน, และปัญหาด้านคลังสินค้า

ผลการวิจัยความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตร ภาคการค้าในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า และบริการที่ผู้ประกอบการมีให้แก่ลูกค้า สินค้าที่มีราคาถูก สถานที่จัดจำหน่ายสะดวกต่อการเดินทาง การส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ

DOWNLOAD