THE PRODUCTION OF INSTRUCTIONAL VIDEO PROGRAM HOW TO MAKE INDIGO DYED COTTON WITH CAPTIONING FOR THE HEARING IMPAIRED

จัดทำโดย วชิรา แก้วเกลี้ยง;กาญจนา โพธิ์ถาวร และ จิดาภา พุทธสิมมา

หลักสูตร เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2560


บทคัดย่อ (ABSTRACT)

ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ 1) เพื่อการศึกษาการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่อง การทำผ้ามัดย้อม โดยนำเสนอด้วยระบบการบรรยายเพื่อการเรียนรู้ เพื่อผู้มีปัญหาทางการได้ยิน 2) ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถนำความรู้ที่ได้จากการชมสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่อง การทำผ้ามัดย้อม ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคำบรรยายสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอน แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้มีปัญหาทางการได้ยิน แบบทดสอบผู้มีปัญหาทางการ ได้ยิน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของแบบทดสอบก่อนและหลังชมสื่อวีดิทัศน์

ผลจากการศึกษาพบว่า การศึกษาความรู้ของ ผู้มีปัญหาทางการได้ยินพบว่า ได้คะแนนจากการทำแบบทดสอบก่อนชมสื่อมีคะแนนเฉลี่ย น้อยกว่า คะแนนจากการทำแบบทดสอบหลังชมสื่อ สรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างผู้มีปัญหาทางการได้ยินได้คะแนนในการทำแบบทดสอบหลังชมสื่อได้ดีกว่าการทำแบบทดสอบก่อนชมสื่อ


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

  1. เพื่อการศึกษาการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่อง การทำผ้ามัดย้อม โดยนำเสนอด้วย ระบบการบรรยายเพื่อการเรียนรู้ เพื่อผู้มีปัญหาทางการได้ยิน
  2. ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถนำความรู้ที่ได้จากการชมสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่อง การทำผ้ามัดย้อม ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่อง การทำผ้ามัดย้อม โดยให้ความรู้กับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน


สรุปผลการทดลอง

สามารถสรุปได้เป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

  1. การศึกษาแนวทางด้านเทคนิคในการใส่คำบรรยายเพื่อการเรียนรู้ เพื่อการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอน
    1. การนำเสนอเนื้อหา
      การนำเสนอเนื้อหาของสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่องการทำผ้ามัดย้อม จะเน้นนำเสนอให้ ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถเข้าใจเนื้อหาภายในสื่อวีดิทัศน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอภาพ วิธีการ และขั้นตอนในการทำผ้ามัดย้อม ที่มีขนาดภาพที่หลากหลายเพื่อเน้นรายละเอียดที่ในวิธีการทำให้มากที่สุด และสิ่งที่สำคัญนอกจากการนำเสนอรายละเอียดขั้นตอนในการทำแล้ว จะต้องทำให้ผู้ชมที่เป็นผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถรับรู้และเข้าใจในวิธีการทำผ้ามัดย้อมได้
    2. การตัดต่อลำดับภาพ
      รูปแบบการตัดต่อสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่องการทำผ้ามัดย้อม จะ “ตัดแบบรวบรวม” เป็นการนำภาพมารวบรวมกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและได้เนื้อหาตรงตามบท เรียงตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ จะเน้นนำเสนอวิธีการและขั้นตอนได้อย่างครบถ้วน ให้ผู้ชมทราบว่า ใครทำอะไร และกำลังทำอะไร
    3. การนำเสนอคำบรรยายเพื่อการเรียนรู้
      คำบรรยายเพื่อการเรียนรู้ในการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนไม่จำเป็นจะต้องถอดคำมาจากภาษาพูดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเป็นสื่อที่ใช้ประกอบการสอนสำหรับนักเรียนที่เป็นผู้มีปัญหาทางการได้ยินจึงสามารถผสมผสานระหว่างคำบรรยายแทนเสียงแบบแก้ไขที่สามารถแก้ไขปรับปรุงตามความเหมาะสมได้ และคำบรรยายแทนเสียงแบบคำต่อคำที่เป็นการถอดเสียงสนทนาต่าง ๆ และใส่ลงไปแบบคำต่อคำโดยไม่มีความแก้ไขการปรากฏของแถบคำบรรยายแทนเสียง การผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอน เลือกใช้คำบรรยายแทนเสียงแบบ Pop on เป็นการปรากฏของแถบคำบรรยายแทนเสียงแบบผุดขึ้นที่นิยมใช้ในกระบวนการหลังการผลิต คำบรรยายแทนเสียงแบบ Pop on จะผ่านการตรวจสอบและออกแบบมาแล้ว เช่น การปรับประโยค การใส่เสียงต่าง ๆ ที่อยู่ในรายการ การระบุผู้พูด มีไวยกรณ์ ตัวสะกดถูกต้อง และข้อความขึ้นตรงตามเสียงต้นฉบับ เป็นต้น
    4. สิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับคำบรรยายแทนเสียง
      1. จำนวนตัวอักษรต่อ 1 บรรทัด ต้องไม่เกิน 32-35 คำโดยจำนวนไม่เกิน 2 บรรทัด
      2. สีตัวอักษรและแถบตัวอักษร ใช้ตัวอักษรสีขาวบนแถบสีดำ แถบสีดำแบบโปร่งซึ่งมีความทึบที่ร้อยละ 75
      3. รูปแบบตัวอักษร ใช้ตัวอักษรของ FreesiaUPC ซึ่งเป็นรูปแบบที่อ่านได้ง่าย
      4. มีความชัดเจนในการนำเสนอคำบรรยาย บอกว่าใครเป็นคนพูด บอกข้อมูลที่เป็นเสียงทั้งหมด
      5. มีการปรับเปลี่ยนการจัดวางรูปแบบประโยคให้เริ่มตรงกันเพื่อให้มีความเรียบร้อย และอ่านง่ายขึ้น
  2. การศึกษาการผลิตสื่อวีดิทัศน์ที่มีผลต่อความรู้ของผู้ชมที่เป็นผู้มีปัญหา ทางการได้ยินในการศึกษาการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่องการทำผ้ามัดย้อม โดยนำเสนอด้วยระบบ คำบรรยายเพื่อการเรียนรู้ เพื่อผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ในครั้งนี้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงความสำคัญของสื่อวีดิทัศน์ที่มีประโยชน์ต่อผู้มีปัญหาทางการได้ยินในด้านการเรียนรู้ แล้วความเข้าใจ ขั้นตอนและวิธีการในการทำผ้ามัดย้อม ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถเข้าใจเนื้อหาภายในสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนได้ง่ายมากขึ้น และยังสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนของสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนได้ และยังสร้างประโยชน์แก่ครูประจำวิชาในการใช้สื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนประกอบการเรียนการสอนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงพ่อแม่ หรือครอบครัวก็สามารถช่วยทบทวนบทเรียนผ่านทางสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนได้
  3. การวิเคราะห์เพื่อทดสอบสมมุติฐาน
    ผลการวิเคราะห์การเปรียบเทียบความรู้ของผู้ชมสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอนเรื่อง การทำผ้ามัดย้อม โดยนำเสนอด้วยระบบการบรรยายเพื่อการเรียนรู้ เพื่อผู้มีปัญหาทางการได้ยินทั้งก่อนชมสื่อและหลังชมสื่อ ได้ค่า t = -11.11 และค่า Sig.= 0.000 มีนัยสำคัญทางสถิติอยู่ในระดับ 0.05 นั่นคือ การยอมรับสมมติฐานรอง H_1 ปฏิเสธสมมติฐานหลัก H_2 ทำแบบทดสอบหลังชมสื่อวีดิทัศน์นั้นดีกว่าการทำแบบทดสอบก่อนชมสื่อวีดิทัศน์ หมายความว่า แบบทดสอบหลังชมสื่อวีดิทัศน์มีความแตกต่างกันกับการทำแบบทดสอบก่อนชมสื่อวีดิทัศน์ โดยที่การทำแบบทดสอบหลังชมสื่อ วีดิทัศน์มีระดับคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 10.94 ซึ่งมากกว่าคะแนนเฉลี่ยนการทำแบบทดสอบก่อนชมสื่อวีดิทัศน์ที่เท่ากับ 3.56

ปัญหาและข้อเสนอแนะ

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำการศึกษาการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อการสอน
    ผู้มีปัญหาทางการได้ยินบางกลุ่มจะมีปัญหาทางด้านการอ่าน นั่นคือ อาจจะไม่สามารถอ่านคำบรรยายเพื่อการเรียนรู้ได้ทัน ในส่วนของคำรำพึงที่ผู้มีปัญหาทางการได้ยินไม่สามารถเข้าใจในความหมาย เนื่องจากคำบางคำจะทำให้ผู้มีปัญหาทางการได้ยินรู้สึกสับสน
  2. ข้อเสนอแนะในการทำการศึกษาครั้งต่อไป
    การใช้สีเข้ามาช่วยในการแยกแยะระหว่างประโยคพูดของบทสนทนาที่มีสองคนขึ้นไป เพื่อช่วยให้ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถแยกแยะประโยคต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น การยืดประโยคให้ยาวขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินทางด้านการอ่าน เพื่อที่จะสามารถอ่านได้ทันและง่ายมากขึ้น

รับชมผลงาน