The production of realism documentary films by technique TIME
REMAPPING and TILT SHIFT

จัดทำโดย สุธาทิพย์ แผ่นสำริด, จิระศักดิ์ น้อยสุขะ และ ธีรวัฒน์ เหมทานนท์

ปีการศึกษา 2554


บทคัดย่อ (Abstract)

ปริญญานิพนธ์เล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเทคนิคพิเศษ TIME REMAPPING ด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS3 และเทคนิคพิเศษ TILT-SHILF ด้วยโปรแกรม Adobe After Effect CS3 เพื่อผลิตภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมเรื่อง “สิ่งเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่”

วิธีการศึกษาเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีสัจนิยม และนำเสนอภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วกับผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน และประชากรคือกลุ่มบุคคลทั่วไป โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 30 ท่าน โดยเลือกแบบเจาะจง ถ่ายทำภายในขอบเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอการดำเนินชีวิตและการคมนาคมในกรุงเทพมหานคร ผลิตโดยการบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้อง DSLR Nikon D7000 และถ่ายทอดสัญญาณภาพลงเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปตัดต่อเทคนิคพิเศษและทำการประเมินคุณภาพของผลงาน

ผลจากการศึกษาพบว่า การใช้เทคนิคพิเศษ TIME REMAPPING และ TILT-SHIFT มาช่วยในการทำภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมนั้น มีผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญโดยรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ (4.50) อยู่ในระดับ “ดีมาก” และการประเมินจากกลุ่มตัวอย่างได้ (4.26) อยู่ในระดับ “ดี”


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

  1. เพื่อการผลิตภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมด้วยเทคนิค Time Remapping และ Tilt-Shift (ภาพเหมือนวัตถุจำลอง)
  2. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่มีต่อภาพยนตร์สารคดีสัจนิยม เรื่อง สิ่งเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ได้ภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมด้วยเทคนิค Time Remapping และ Tilt-Shift (ภาพเหมือนวัตถุจำลอง) เพื่อสร้างความสนใจและดึงดูดใจจากผู้ชม
  2. ทราบถึงความคิดเห็นของนักศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่มีต่อภาพยนตร์สารคดีสัจนิยม เรื่อง สิ่งเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้เป็นการนำเสนอการผลิตภาพยนตร์แนวสัจนิยมโดยใช้เทคนิค Time Remapping เพื่อทำภาพ Fast Motion และทำภาพแบบ Tilt-Shift (Perspective Control Lens โดยปกติการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมผู้ถ่ายจะตั้งกล้องแล้วเงยกล้องขึ้นไปถ่าย จึงทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของตัวอาคาร ซึ่งเลนส์ประเภทนี้สามารถแก้การบิดเบือนของภาพได้) ในการศึกษาทางผู้จัดทำจะใช้กระบวนการทำเทคนิคพิเศษ Tilt-Shift ในโปรแกรมตัดต่อแทนการใช้เลนส์ และออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์สารคดีสัจนิยม เรื่อง สิ่งเล็กๆ ในเมืองใหญ่ ความยาว 4.32 นาที โดยมีเนื้อเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองใหญ่ ทั้งการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป และการคมนาคม โดยมุมภาพที่กำหนดจะเป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากที่สูงเท่านั้น เพื่อเป็นการนำเสนอมุมภาพที่แตกต่าง สร้างความน่าสนใจ และเอื้อต่อการใส่เทคนิคภาพแบบ Tilt-Shift ผลิตโดยการบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้อง DSLR (Digital Single-Lens Reflex) Nikon D7000 ทำการบันทึกลง memory card และถ่ายทอดสัญญาณภาพลงเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปตัดต่อเทคนิคพิเศษ Time Remapping ในโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS3 และภาพแบบ Tilt-Shift ด้วยโปรแกรมตัดต่อ แล้วจึงทำการ Export ออกมาเป็นไฟล์ .mp4 และนำเสนอภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วกับผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน และนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 30 ท่าน เพื่อทำการประเมินคุณภาพของผลงาน


สรุปผลการศึกษา

จากผลการศึกษาพบว่า กลุ่มเป้าหมายแสดงความคิดเห็นว่าในส่วนของมุมมองด้านเนื้อเรื่องนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดเด่นในเรื่องของการถ่ายทอดความแออัดวุ่นวายในการคมนาคมได้เป็นอย่างดี เห็นการสัญจรไปมาของรถยนต์ที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะ ส่วนในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถถ่ายทอดความเป็นเมืองหลวงได้ดีมาก จากการเห็นสถานที่สำคัญ ๆ และการคมนาคมที่หลากหลายและสะดวกสบาย ส่วนในด้านมุมมองภาพ กลุ่มเป้าหมายแสดงความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ได้เห็นภาพของการเดินทางคมนาคมในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม มีความแปลกใหม่น่าสนใจอยู่ในระดับที่ดี แค่เปลี่ยนมุมในการมอง ความรู้สึกและอารมณ์ภาพที่เห็นก็เปลี่ยนไป ส่วนในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญกับมีความเห็นว่า ภาพแต่ละภาพนั้นมีการเน้นจุดสนใจที่ดีและเหมาะสม ทำให้ภาพมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี และส่วนในด้านของเทคนิคพิเศษกลุ่มเป้าหมายแสดงความเห็นว่าการใช้เทคนิค Time Remapping ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมได้ดีกว่าเทคนิค Tilt-Shift ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี ส่วนในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การใช้เทคนิค Tilt-Shift ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและมีความเหมาะสมสอดคล้องที่จะนำมาปรับใช้กับภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยภาพแบบ Tilt-Shift นั้นยังไม่เป็นที่คุ้นตาของบุคคลทั่วไปมากนัก ซึ่งสรุปผลโดยรวมของการทำภาพยนตร์สารคดีสัจนิยมนั้นอยู่ในระดับดี

อภิปรายผลการศึกษา

จากการทำภาพยนตร์สารคดีสัจนิยม ด้วยเทคนิค TIME REMAPPING และ TILT-SHILF สามารถทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ สามารถถ่ายทอดความเป็นเมืองหลวง การคมนาคม ความแออัดหรือสภาพชีวิตจริงที่เกิดในสังคมเมืองได้เป็นอย่างดี โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์น่าสนใจ คือ การปรับเปลี่ยนมุมมองภาพที่แปลกใหม่ มีการเน้นจุดสนใจที่เหมาะสม การใส่เทคนิคพิเศษ ทำให้ผู้รับชมเกิดความพึงพอใจและเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ในระดับที่ดี

ข้อเสนอแนะ

  1. การดำเนินเรื่องควรให้มีเรื่องราวและมีความน่าสนใจมากขึ้นและควรมีฉากจบที่น่าประทับใจ
  2. การเลือกจุดสนใจในภาพ หนึ่งช็อตอาจมีจุดสนใจในภาพหลายภาพ ควรใส่ลูกเล่นในจุดสนใจหรือใช้การแพนกล้องเพื่อให้มีความน่าสนใจมากชึ้น
  3. การเลือกใช้เพลงควรจะเลือกเพลงให้เหมาะสมและเป็นตัวช่วยเสริมความน่าสนใจของภาพ อีกทั้งจังหวะและทำนองควรให้มีจังหวะที่แตกต่างในเรื่องอารมณ์หลายอารมณ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลงาน
  4. การถ่ายภาพควรถ่ายจากบนอาคารที่มีความสูง ถ้ามีความสูงมากเท่าไหร่ภาพที่ออกมาก็จะเหมือนภาพ Tilt-Shift (ภาพเหมือนวัตถุจำลอง) มากขึ้นเท่านั้น หากไม่สามารถขึ้นที่สูงมากได้ให้เลือกใช้เลนส์ที่มีมุมกว้างมาก ๆ แทน
  5. ในขณะการถ่ายทำควรใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคงแข็งแรง และควรเลือกพื้นที่ไม่สั่นไหวจากการสัญจรไปมาของผู้คนและรถยนต์ ควรหลีกเลี่ยงการถ่ายบนสะพานลอยที่มีโครงสร้างเป็นเหล็กและที่ ๆ มีลมพัดแรง
  6. หากถ่ายทำจากในตัวอาคารที่มีกระจกกั้นควรระมัดระวังเงาสะท้อนที่เกิดจากกระจก มีวิธีแก้ไขโดยการใช้ผ้าดำปิดคลุมบริเวณกระจกเพื่อป้องกันเงาสะท้อน

รับชมผลงาน