The invention of iced steam on mock up ice cream for an advertising photo production.

จัดทำโดย นิธิรุจน์ บัวทอง

ปีการศึกษา 2554


วัตถุประสงค์ในการศึกษา

เพื่อผลิตภาพถ่ายโฆษณาไอศกรีมที่มีไอเย็นโดยใช้ไอศกรีมจำลอง

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถผลิตภาพถ่ายโฆษณาไอศกรีมที่มีไอเย็น โดยใช้ไอศกรีมจำลองได้สมจริง

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาในครั้งนี้เป็นการผลิตภาพถ่ายโฆษณาไอศกรีมที่มีไอเย็นโดยใช้ไอศกรีมจำลอง ซึ่งไอศกรีมจำลองนั้นใช้ไอศกรีมจำลองแบบนิ่มมีน้ำตาลไอซิ่งและเนยขาวเป็นส่วนประกอบ และใช้เทคนิคการสร้างไอเย็น 3 วิธี คือ 1.แบบผ้าชุบน้ำร้อน 2.แบบสเปรย์ละอองฝ้า และ 3.แบบน้ำแข็งแห้ง โดยใช้กล้อง Digital SLR ยี่ห้อ Nikon รุ่น D90 ไฟแฟลชสตูดิโอ ยี่ห้อ Bowen ในการถ่ายภาพ หลังจากถ่ายภาพนำไฟล์ที่ได้ไปอัดขยายขนาด 5×7 นิ้ว จำนวน 6 ภาพ และนำภาพที่ได้ไปประเมินสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่มีประสบการณ์ถ่ายภาพอาหาร จำนวน 5 ท่าน และนำภาพไปอัดขยายด้านใดด้านหนี่ง 20 นิ้ว จำนวน 3 ภาพ


สรุปผลการศึกษา/ข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาพบว่า การผลิตภาพถ่ายโฆษณาไอศกรีมที่มีไอเย็นโดยใช้ไอศกรีมจำลองนั้นเป็นการศึกษาถึงขั้นตอนการสร้างเทคนิคไอเย็นในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้ไอศกรีมจำลองที่ใช้ในการโฆษณามีความเหมือนจริงมากที่สุด

ภาพถ่ายไอศกรีมจำลองโดยใช้เทคนิคไอเย็นจากน้ำเข็งแห้งเป็นเทคนิคที่สามารถให้ความเสมือนจริงของไอเย็นได้มากที่สุด จึงส่งผลทำให้ภาพถ่ายที่ได้มีความน่าสนใจ และส่งผลต่อการชักจูงใจให้เกิดการสั่งซื้อไอศกรีมมากที่สุดอีกด้วย ในส่วนของเทคนิคไอเย็นโดยใช้สเปรย์ละอองฝ้าและเทคนิคไอเย็นโดยใช้ผ้าชุบน้ำร้อนนั้นจะให้ความเสมือนจริงของไอเย็นและความน่าสนใจของภาพเป็นลำดับรองลงมาจากเทคนิคไอเย็นโดยใช้เทคนิคไอเย็นจากน้ำแข็งแห้ง

จากผลการศึกษาจะสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของคุณสันติพงษ์ จูเจริญ ที่ว่า เทคนิคที่จะสื่อถึงความเย็นและสร้างไอเย็นเสมือนจริงที่สุด นั่นคือ เทคนิคไอเย็นโดยใช้น้ำแข็งแห้ง เพราะลักษณะการลอยตัวของไอเย็น และปริมาณของไอที่เกิดขึ้นเหมาะสมกับการโฆษณาไอศกรีม

ดังนั้นหากกล่าวถึงการนำภาพไอศกรีมที่มีไอเย็นโดยใช้ไอศกรีมจำลอง ควรนำเทคนิคไอเย็นโดยใช้น้ำแข็งแห้งมาเป็นเทคนิคเสริมเพื่อสร้างไอเย็นให้สมจริง ซึ่งก่อให้เกิดความน่าสนใจ และสื่อให้ผู้รับชมสัมผัสได้ถึงความเย็นของไอศกรีมจำลองได้เป็นอย่างดี

ปัญหา

  1. ปัญหาการผลิตเทคนิคไอเย็นแบบผ้าชุบน้ำร้อน จากการศึกษาเทคนิคนี้จะได้ไอเสมือนความเย็นที่เบาบางมากและระเหยไปในอากาศอย่างรวดเร็วเมื่อทำการถ่ายภาพจะเห็นเทคนิคไอความเย็นที่น้อยหรืออาจมองไม่เห็นเทคนิคเลย เทคนิคนี้จึงไม่เหมาะแก่การถ่ายภาพเพื่อใช้ในการโฆษณาไอศกรีมที่มีไอเย็น
  2. ปัญหาการผลิตไอเย็นแบบสเปรย์ละอองฝ้า ปัญหาเทคนิคนี้เกิดจากการฉีดพ่นสเปรย์ถ้าฉีดพ่นสเปรย์ที่หนาเกินไปลงบนวัตถุจะทำให้ละอองฝ้าที่ได้ บังรายละเอียดของเนื้อไอศกรีมภายในแก้วไอศกรีม ถ้าฉีดพ่นบางเกินไปละอองฝ้าที่ได้จะไม่สื่อให้เห็นถึงความเย็น
  3. ปัญหาการผลิตเทคนิคไอเย็นแบบใช้น้ำแข็งแห้ง เทคนิคนี้จะได้ไอเย็นที่มีความหนาแน่นมากกว่าอากาศซึ่งทำให้ไอเย็นที่ได้ลอยตกลงพื้นเสมอ จึงทำให้ควบคุมไอความเย็นได้ยาก

ข้อเสนอแนะ

  1. การฉีดพ่นสเปรย์ละอองฝ้าก่อนที่จะทำการฉีดพ่นควรที่จะนำเทปกาวมาพันที่ขอบแก้วเพื่อบังไอศกรีมที่อยู่ด้านบนของแก้วจากนั้นจึงทำการฉีดสเปรย์ละอองฝ้าลงไปที่แก้วไอศกรีมสาเหตุที่ต้องนำเทปกาวมาพันบริเวณรอบนั้นเพื่อไม่ให้สเปรย์ละอองฝ้าเข้าไปโดนเนื้อไอศกรีมจากนั้นฉีดสเปรย์ละอองฝ้าไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ละอองฝ้าที่ได้เรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
  2. เมื่อจะทำการถ่ายภาพเทคนิคไอเย็นแบบน้ำแข็งแห้งควรที่จะรอจังหวะการเกิดไอเย็นที่มีปริมาณพอเหมาะแล้วจึงทำการถ่ายภาพ
  3. ในการทำเทคนิคไอเย็นแบบผ้าชุบน้ำร้อน เทคนิคนี้จะต้องทำการบันทึกภาพอย่างรวดเร็วเพราะไอความร้อนที่ได้จะระเหยไปในอากาศอย่างรวดเร็วและควรที่จะมีผู้ช่วยเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการถ่ายภาพและเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ประหยัดต้นทุนโดยไม่ต้องหาซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง เพียงแค่มีผ้าและกะทะไฟฟ้าก็สามารถที่จะผลิตภาพได้แล้ว