The study of making a mock up ice to substitute real ice in the film advertising

จัดทำโดย วรวุฒิ ชนะชัย, สุปิตา เรืองหิรัญ และ เพ็ญนภา อุดมพงษ์

ปีการศึกษา 2555


บทคัดย่อ (Abstract)

ในการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณาในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อโฆษณาอาหาร ประเภทน้ำแข็ง หรือมีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ เช่น ระยะเวลาในการถ่ายทําที่นานเกินไป และอุณหภูมิที่สูงเกินไป เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ น้ำแข็งไม่สามารถนํามาใช้ในการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณาได้ในบางสถานการณ์ จึงมีแนวทางในการศึกษาหาวัสดุเพื่อนํามาทดแทน จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีการนําเรซิ่น หล่อใส หรือ โพลีเยสเทอร์เรซิ่น มาทําการหล่อเป็นน้ำแข็งในรูปลักษณะต่าง ๆ ในการทําน้ําแข็งเลียนแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาในการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณาประเภทน้ําแข็ง หรือมีน้ําแข็งเป็นส่วนประกอบ

ในการศึกษาได้มีการนําเรซิ่นหล่อใส 100 กรัม ผสมกับตัวทําแข็ง 0.5 – 2% ของปริมาณเรซิ่น และเทลงในแม่พิมพ์ซิลิโคนที่ทําขึ้น รอจนเรซิ่นแข็งตัวแล้วจึงแกะออกจากแม่พิมพ์ซิลิโคน และขัดตกแต่ง เงาให้สวยงาม จากนั้นนําไปทดสอบโดยการใส่ลงเครื่องดื่มเพื่อเปรียบเทียบดูความเหมือน จากการศึกษาพบว่า วัตถุจําลอง (Mock up) น้ำแข็ง มีความใส เงา เบา เหนียว ไม่เปราะ และมีความแข็งแรง ไม่เกิดการละลายหรือเปลี่ยนสี และทางด้านความเหมือนจริงพบว่า มีขนาด สัดส่วน และความสวยงามเหมือนจริง สรุปน้ำแข็งเลียนแบบสามารถนํามาใช้แทนน้ำแข็งจริงในการถ่ายภาพยนตร์โฆษณาได้ ซึ่งให้รูปร่าง ลักษณะที่เหมือนจริง ไม่เกิดการละลาย และสามารถเก็บไว้ใช้งานได้นาน


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

เพื่อศึกษาเทคนิคการผลิตวัตถุจําลอง (Mock up) น้ำแข็ง เพื่อใช้แทนน้ำแข็งจริงในการผลิต ภาพยนตร์โฆษณาได้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถผลิตแบบจําลอง (Mock up) น้ำแข็งสําหรับใช้ในภาพยนตร์โฆษณา ให้มีความสวยงาม ความเหมือนจริง สามารถศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทําโฆษณาที่ต้องใช้น้ำแข็งเป็น ส่วนประกอบ และศึกษากระบวนการการผลิตภาพยนตร์โฆษณาได้

ขอบเขตของการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาการผลิตแบบจําลอง (Mock up) น้ำแข็งในลักษณะต่าง ๆ เพื่อใช้ แทนน้ำแข็งจริงในการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณา เพื่อแก้ปัญหาน้ําแข็งละลายในการถ่ายทําซึ่งมีผลมาจากหลายปัจจัย เช่น ความร้อนจากโคมไฟ ระยะเวลาในการถ่ายทําที่นานเกินไป เป็นต้น โดยการผลิตเป็นภาพยนตร์โฆษณาน้ำหวานสําหรับทําเครื่องดื่มใช้แบรนด์ ชื่อ Sweety โดยคํานึงถึงความเหมาะสมของการใช้งาน ความสวยงามทางด้านการประกอบภาพและการจัดแสง และความเหมือนจริง แล้วถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณา 30 วินาที ถ่ายทําด้วยกล้อง DSLR (Digital single-lens reflex camera) แล้วนําไปตัดต่อและนําภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวพร้อมแบบจําลองน้ำแข็งไปให้แก่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านแบบจําลอง (Mock up) 3 คน ประมวลผล แล้วนําข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ประเมินผลและสรุป


สรุปผลการศึกษา

ในการศึกษาเรื่อง “การศึกษาการผลิตแบบจําลอง (Mock up) น้ำแข็งในลักษณะต่าง ๆ เพื่อใช้ แทนน้ำแข็งจริงในการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณา” ซึ่งอุปสรรคในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาที่ต้องใช้ น้ําแข็งเป็นส่วนประกอบ ประกอบด้วยปัจจัย คือ ระยะเวลาในการถ่ายทํา และอุณหภูมิ โดยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้น้ำแข็งไม่สามารถคงสภาพโดยไม่ละลายได้ และไม่สามารถนํามาใช้ในการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณาได้ จึงมีแนวทางในการศึกษาหาวัสดุเพื่อนํามาทดแทนวัตถุจริง ซึ่งนั่นก็คือการใช้เรซิ่นชนิดหล่อใส เป็นวัสดุหลักในการทําวัตถุจําลอง (Mock up) น้ําแข็ง

จากผลการศึกษาโดยการสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุจําลอง (Mock up) ทั้ง 3 ท่าน โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

  1. เมธาพันธ์ ปิติธันยพัฒน์ ตําแหน่ง Mock up man freelance
  2. เสรี ศิเจริญ ตําแหน่ง Art Director บริษัท มัคกี้-มัค
  3. สุภาพ นาคพงศ์พันธ์ ตําแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเจโมเดล จํากัด

สรุปผลการศึกษาได้ว่า วัตถุจําลอง (Mock up) ทั้งผลพิสูจน์ด้วยตาและผลพิสูจน์ผ่านการชม ภาพยนตร์โฆษณามีความสวยงามเหมือนจริง และมีขนาดสัดส่วนที่เหมาะสมกับวัตถุจริง สามารถนําวัตถุจําลอง (Mock up) ไปใช้ได้จริงและตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ได้แนะนําเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อความสวยงามของวัตถุจําลอง (Mock up) ซึ่งผู้ศึกษาจะนํากลับมาปรับปรุงและพัฒนาฝีมือต่อไป

ผู้ศึกษาได้ทําการวิเคราะห์ปัญหาออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการทําวัตถุจําลอง (Mock up)
    1. บล็อคที่ปั้นด้วยดินน้ํามันในครั้งแรก เมื่อทําแม่พิมพ์ซิลิโคนและหล่อเรซิ่นสําเร็จ ผลปรากฎว่า เรซิ่นที่หล่อออกมาเห็นรอยนิ้วมือ ทีมผู้จัดทําจึงได้ทดลองใส่ถุงมือแล้วปั้นบล็อคขึ้นมาใหม่ เรซิ่นที่หล่อได้จึงมีผิวเรียบขึ้นได้
    2. ขั้นตอนเคลือบสเปรย์แล็กเกอร์เคลือบใส เมื่อเคลือบเสร็จทําให้วัตถุจําลองมีสีเหลืองใสเคลือบที่ผิว จึงขอคําแนะนําจากผู้เชี่ยว ซึ่งอาจเนื่องมาจากเรซิ่นมีส่วนผสมของน้ํามันเคลือบอยู่หรือสเปรย์มีอายุการเก็บนาน โดยแนะนําให้ใช้อะซิโทนเช็ดที่ผิวของเรซิ่น และเคลือบสเปรย์แล็กเกอร์เคลือบใสอีกครั้ง
    3. วัตถุจําลองไม่มีความเงางามเท่าที่ควร จึงได้ทําการแก้ไขโดยทําความสะอาดแม่พิมพ์ หล่อแม่พิมพ์ใหม่อยู่หลายครั้ง และทดลองขัดวัตถุจําลองด้วยแว๊กซ์ขัดเงา ทําให้เสียเวลาและงบประมาณมากขึ้น
  2. ปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการการถ่ายทําภาพยนตร์โฆษณา
    1. เนื่องจากโลเคชั่นที่ถ่ายทํามีเพดานห้องต่ำ และพื้นที่ที่จํากัด ในการถ่ายทําช้อทแรก ที่ต้องปล่อยอุปกรณ์จําพวกลูกโป่ง ริบบิ้น ฯลฯ ต้องเปลี่ยนวิธีการถ่ายทําหลายวิธี ทําให้เสียเวลา
    2. เนื่องจากไม่ได้มีการซ้อมในส่วนของการถ่ายแพคช้อทต่าง ๆ เช่น ราดน้ำหวานบน น้ำแข็งใส เทน้ำใส่แก้ว ซึ่งอาจต้องประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาช่วยเพื่อให้สะดวกในการถ่ายทํามากขึ้น จึงต้องถ่ายซ้ําหลายครั้ง ทําให้เสียเวลาในการถ่ายทํา

ข้อเสนอแนะ

  1. การขัดและปัดเงาทําให้วัตถุจําลอง (Mock up) มีความสวยงามยิ่งขึ้น
  2. ควรหล่อแม่พิมพ์ให้มีหลายขนาดแตกต่างกันไป
  3. ก่อนการหล่อเรซิ่นควรทําแม่พิมพ์ให้มีพื้นผิวเรียบเงางาม จะทําให้วัตถุที่หล่อออกมามีความเงางามมากขึ้น
  4. หมั่นฝึกฝนเพื่อประสบการณ์ ซึ่งในการทําวัตถุจําลอง (Mock up) ต้องใช้ประสบการณ์ในการทําซ้ำเพื่อให้รู้ถึงปัญหา ความคงที่ของอัตราส่วนเคมี และการเลียนแบบธรรมชาติ

รับชมผลงาน