Effect of Luminance Contrast of Character on LED Panel on Elderly Vision

นักวิจัย   กิติโรจน์ รัตนเกษมสุข

ปีที่จัดพิมพ์ 2559


บทคัดย่อ (Abstract)

งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการศึกษาเรื่อง อิทธิพลของความเปรียบต่างความส่องสว่างของตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรฐานการแสดงข้อความบนจอแอลอีดีที่เป็นมิตรต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ ในโครงการวิจัยนี้ใช้ระดับความเปรียบต่างความส่องสว่างของตัวอักษร 2 ชนิดทั้งแบบ ความเปรียบต่างชนิดพอสิทีฟ (ตัวอักษรสว่างบนพื้นหลังสีดำ) และความเปรียบต่างชนิดเนกาทีฟ (ตัวอักษรดำบนพื้นหลังสีขาว) โดยกำหนดระดับความเปรียบต่างความส่องสว่างชนิดละ 6 ระดับ การทดลองใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนสามกลุ่มประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น ที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 30 คน กลุ่มผู้สูงอายุจำลอง ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นจำนวน 30 คนสวมแว่นจำลองสภาพการมองเห็นของผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้สูงอายุจริงจำนวน 5 คน  โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 สภาวะคือ ทดสอบภายใต้ความสว่างของห้องทดสอบที่ 0 และ 300 ลักซ์ ผู้ทดสอบจะแสดงตัวอักษรไทยบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีขี้นมาครั้งละ 10 ตัวอักษรโดยการสุ่ม ระยะการมองเห็นอยู่ที่ 246 เซนติเมตร การทดลองแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกเป็นการประเมินประสิทธิภาพในการอ่านซึ่งจะให้ผู้ทดสอบอ่านตัวอักษรที่ปรากฏขึ้นและนำคำตอบที่ได้มาคำนวณหาค่าร้อยละการอ่านถูก ขั้นตอนที่สองเป็นการประเมินความยากง่ายในการอ่าน โดยให้ผู้ทดสอบให้คะแนนความยากง่ายในการอ่านชุดตัวอักษรในช่วงคะแนน 0-4

ผลการทดลองพบว่า อิทธิพลของความเปรียบต่างความส่องสว่างระหว่างตัวอักษรกับพื้นหลังมีผลอย่างยิ่งต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความเปรียบต่างแบบพอสิทีฟหรือเนกาทีฟ เมื่อความเปรียบต่างมากผู้ทดสอบทั้ง 3 กลุ่มสามารถเห็นตัวอักษรได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อมีความเปรียบต่างน้อยลงจะทำให้ความสามารถในการมองเห็นตัวอักษรลดลง จากผลการทดลองทั้งในสภาวะที่มืด (0 ลักซ์) และกรณีสภาวะความสว่างในอาคาร (300 ลักซ์) มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

ในกรณีความเปรียบต่างชนิดเนกาทีฟ (ตัวอักษรดำบนพื้นหลังสีขาว) ความเปรียบต่างขั้นต่ำที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างอย่างทั้งสามกลุ่มสามารถอ่านตัวอักษรได้คือ 0.16 แต่หากคำนึงถึงความยากง่ายและสบายตาในการอ่านด้วยแล้วความเปรียบต่างความส่องสว่างที่เหมาะสมกับทั้งกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้สูงอายุควรจะมีค่าตั้งแต่ 0.25 ขึ้นไป

ส่วนกรณีความเปรียบต่างชนิดพอสิทีฟ (ตัวอักษรสว่างบนพื้นหลังสีดำ) ความเปรียบต่างขั้นต่ำสำหรับทั้งกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้สูงอายุคือ 3.00 แต่ความเปรียบต่างที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานจริงควรจะมีค่าตั้งแต่ 3.59 ขึ้นไป จึงจะทำให้ทั้งสองกลุ่มสามารถมองเห็นตัวอักษรได้ชัดเจนและมีความสบายตาในการอ่านตัวอักษร


วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาอิทธิพลของความเปรียบต่างด้านความส่องสว่างของตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีที่มีต่อความสามารถในการมองเห็นของผู้สูงอายุ

ขอบเขตของโครงการวิจัย

การศึกษาเรื่องอิทธิพลของของความเปรียบต่างด้านความส่องสว่างของตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีที่มีต่อความสามารถในการมองเห็นของผู้สูงอายุ ในโครงการวิจัยนี้ใช้ระดับความเปรียบต่างความส่องสว่างของตัวอักษร 2 ชนิดทั้งแบบพอสิทีฟ (ตัวอักษรสว่างบนพื้นหลังสีดำ) และความเปรียบต่างชนิดเนกาทีฟ (ตัวอักษรดำบนพื้นหลังสีขาว) โดยกำหนดระดับความเปรียบต่างความส่องสว่างชนิดละ 7 ระดับ การทดลองใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนสามกลุ่มประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น ที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 30 คน กลุ่มผู้สูงอายุจำลอง ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นจำนวน 30 คนสวมแว่นจำลองสภาพการมองเห็นของผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้สูงอายุจริงจำนวน 5 คน  โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 สภาวะคือ ทดสอบภายใต้ความสว่างของห้องทดสอบที่ 0 และ 300 ลักซ์ ผู้ทดสอบจะแสดงตัวอักษรไทยบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีขี้นมาครั้งละ 10 ตัวอักษรโดยการสุ่ม ระยะการมองเห็นอยู่ที่ 246 เซนติเมตร การทดลองแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกเป็นการประเมินประสิทธิภาพในการอ่านซึ่งจะให้ผู้ทดสอบอ่านตัวอักษรที่ปรากฏขึ้นและนำคำตอบที่ได้มาคำนวณหาค่าร้อยละการอ่านถูก ขั้นตอนที่สองเป็นการประเมินความยากง่ายในการอ่าน โดยให้ผู้ทดสอบให้คะแนนความยากง่ายในการอ่านชุดตัวอักษรในช่วงคะแนน 0-4

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ได้ทราบความเปรียบต่างด้านความส่องสว่างของตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีที่เหมาะสมกับการมองเห็นของผู้สูงอายุ ภายใต้สภาวะกลางคืนหรือในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อยและ ภายในอาคาร
  2. ได้องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความเปรียบต่างด้านความส่องสว่างของตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีที่เหมาะสมกับการมองเห็นของผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดมาตรฐานในการใช้จอแสดงผลชนิดแอลอีดีที่เป็นมิตรต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุได้
  3. หน่วยงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่
    1. สถาบันพิทักษ์และส่งเสริมผู้สูงอายุ สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดงานวิจัยเพื่อออกแบบระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
    2. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดเป็นมาตรฐานการใช้ป้ายสัญญาณแอลอีดีเพื่อความเป็นมิตรต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ
    3. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดสำหรับการพัฒนาจอแสดงผลแบบแอลอีดี

สรุปผลการทดลองและข้อเสนอแนะ

ในการวิจัยเรื่องอิทธิพลของความเปรียบต่างความส่องสว่างของตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุผู้วิจัยได้ทำการประเมินประสิทธิภาพในการอ่านตัวอักษรและความยากง่ายในการอ่านตัวอักษรของผู้สูงอายุเทียบกับกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นและกลุ่มผู้สูงอายุจำลองซึ่งสวมแว่นจำลองสภาพการเกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ ภายใต้สภาวะการมองเห็นเวลากลางคืนและสภาวะการมองเห็นภายในอาคาร ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้

ขีดจำกัดของความเปรียบต่างที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุนั้นมีค่าสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นเสมอ ขีดจำกัดความเปรียบต่างที่ได้จากการประเมินความยากง่ายในการอ่านจะมีค่าสูงกว่าขีดจำกัดความเปรียบต่างที่ได้จากการประเมินประสิทธิภาพในการอ่าน ซึ่งหมายถึง กลุ่มตัวอย่างสามารถอ่านตัวอักษรออกได้ถูกต้องแต่ประสบปัญหาความไม่สบายตาหรือความลำบากในการอ่าน ดังนั้นควรใข้ขีดจำกัดความเปรียบต่างที่ได้จากการประเมินความยากง่ายในการอ่านเป็นเกณฑ์ในการกำหนดความเปรียบต่างที่เหมาะสมต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ

สำหรับความเปรียบต่างที่เหมาะสมต่อการมองเห็นตัวอักษรบนจอแสดงผลชนิดแอลอีดีนั้น หากใช้การแสดงผลแบบความเปรียบต่างชนิดพอสิทีฟ (ตัวอักษรสว่างบนพื้นหลังสีเข้ม) ความเปรียบต่างที่เหมาะสมต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุควรมีค่าตั้งแต่ 3.59 ขึ้นไป

ส่วนการแสดงผลแบบความเปรียบต่างชนิดเนกาทีฟ (ตัวอักษรเข้มบนพื้นหลังสีขาว) ความเปรียบต่างที่เหมาะสมต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุควรมีค่าตั้งแต่ 0.25 ขึ้นไป

ข้อเสนอแนะ

  1. ในงานวิจัยนี้ยังขาดสภาวะการมองเห็นในเวลากลางวันหรือแบบกลางแจ้งซึ่งเป็นอีกสภาวะหนึ่งที่มีการใช้งานป้ายสัญญาณชนิดแอลอีดี แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่และอุปกรณ์ในงานวิจัยนี้ทำให้ไม่สามารถทำการศึกษาภายใต้สภาวะแสงกลางแจ้งหรือเวลากลางวันได้ ในอนาคตจึงควรศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลการทดลองในสภาวะกลางแจ้งหรือเวลากลางวันเพิ่มขึ้น
  2. ขนาดของตัวอักษรในการทดลองนี้มีขนาดจำกัดที่มุมการมองเห็นเพียง 0.35 องศาเท่านั้น เพื่อให้ครอบคลุมกับการใช้งานจริง จึงควรมีการทดลองโดยใช้ขนาดตัวอักษรที่แตกต่างกันเพิ่มขึ้นด้วย
  3. ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยเลือกใช้ตัวอักษรและพื้นหลังที่เป็นสีอรงค์ (Achromatic Color) เพื่อให้ครอบคลุมกับการใช้งานจริง ควรเพิ่มคู่สีของพื้นหลังและตัวอักษรเป็นสีอื่นด้วย
  4. ในการใช้งานจริงมีการใช้ตัวอักษรเคลื่อนที่ด้วย ดังนั้นจึงควรศึกษาเพิ่มเติมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเปรียบต่างของตัวอักษรกับความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวอักษร
  5. จากข้อมูลการทดลองเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุจริงกับผู้ที่สวมแว่นจำลองสภาพการเกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุพบว่า ผลการทดลองของทั้งสองกลุ่มมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน อาจเป็นไปได้ว่า แว่นตาจำลองสภาพการเกิดต้อกระจกนี้ยังไม่สามารถจำลองสภาพการมองเห็นของผู้สูงอายุได้อย่างครบถ้วน หากในอนาคตสามารถเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุจริงจำนวนมากขึ้น อาจนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงให้แว่นจำลองสภาพการเกิดต้อกระจกนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน