Effect of Local Cable TV owners about Television system transition from Analog system to Digital system

ผู้วิจัย กุลภัสสร์   กาญจนภรางกูร

ปีงบประมาณ  2558


บทคัดย่อ

โทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก หรือเคเบิลทีวี เป็นอีกหนึ่งสื่อทางเลือกในการเลือกรับบริโภคข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ของประชาชน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแรกในเรื่องของภูมิศาสตร์ของระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ไม่ชัดเจนหรือขาดหายไป นับเป็นก้าวแรกของการทำงานของโทรทัศน์ผ่านระบบสาย สื่อเคเบิลทีวีในต่างประเทศเกิดขึ้น 50 กว่าปีมาแล้ว โดยมีหลักฐานและมีการใช้อย่างแพร่หลาย คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่โทรทัศน์ระบบผ่านสายในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2523 ในจังหวัดจันทบุรี และเริ่มมีการให้บริการกันอย่างแพร่หลาย และกลายมาเป็นธุรกิจสื่อขนาดเล็กทั่วทั้งประเทศในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การให้บริการสื่อเคเบิลทีวียังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเกิดปัญหาเป็นข้อถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างผู้ประกอบกิจการและรัฐบาลมาโดยตลอด

ในเบื้องต้นผู้วิจัยได้มีการศึกษาจากเอกสารและการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อเบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารงานและจำนวนสถานีของสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ตลอดจนปัญหาในการบริหารงานของสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนถ่ายระบบของสัญญาณโทรทัศน์ต่อไป

ขอบเขตของการศึกษา ผู้วิจัยได้เลือกกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาเฉพาะผู้ที่ประกอบกิจการสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นในประเทศไทย โดยมีหลักเกณฑ์ คือ เป็นสมาชิกและมีรายชื่ออยู่ในสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย มีการบริหารองค์กรมานานกว่า 10 ปี หรือเป็นผู้ที่ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นไป และยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน โดยจัดทำในรูปแบบของแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการในเรื่องผลกระทบได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล

ในการวิจัยนี้ พบว่า ก่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบสัญญาณโทรทัศน์ ในปี 2558 เคเบิลทีวีท้องถิ่นประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างแรก คือ ด้านงบประมาณในการลงทุน ด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย และด้านกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล ก็ยังประสบปัญหาเดิมเช่นกัน แต่กลับพบปัญหาเพิ่มขึ้น คือ ปัญหาด้านเทคโนโลยีในระบบดิจิทัล ขาดบุคคลกรที่มีทักษะแรงงานในระบบดิจิทัล และจำนวนสมาชิกที่เริ่มลดลง อาจส่งผลต่อเคเบิลทีวีในอนาคต

คำสำคัญ : เคเบิลทีวีท้องถิ่น ระบบโทรทัศน์ ระบบอนาล็อก ระบบดิจิทัล


วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล

ขอบเขตของโครงการวิจัย

  1. ขอบเขตพื้นที่ในการวิจัย

ผู้วิจัยเลือกที่จะศึกษาเฉพาะสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นในประเทศไทย

  1. ขอบเขตของกลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยเลือกที่จะศึกษาคือ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

2.1 เป็นองค์กรที่ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมานานกว่า 10 ปี หรือ

2.2 เป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นไป และยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้เจ้าของกิจการคนเดิม หรือ

2.3 เป็นสมาชิกและมีรายชื่ออยู่ในสมาคมเคเบิลทีวีท้องถิ่นแห่งประเทศไทย หรือ

2.4 เข้าข่ายทั้ง 3 กรณี

  1. ขอบเขตเนื้อหา

เป็นการจัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในเรื่องของผลกระทบที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์ดังกล่าว ซึ่งแบ่ง 3 ช่วงเวลา ดังนี้

3.1 ระยะแรกในการดำเนินกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น

3.2 การดำเนินกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในปัจจุบัน

3.3 การดำเนินกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในอนาคต

โดยใน 3 ช่วงเวลานี้ จะมีการเก็บข้อมูลในส่วนของเนื้อหา ดังนี้

1. จำนวนสมาชิกในการรับการบริการ

2. ปัญหาในการรับส่งสัญญาณ

3. ปัญหาด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

4. ปัญหาด้านกฎหมาย

5. ปัญหาอื่นๆ หรือข้อเสนอแนะ

                 

  1. ขอบเขตระยะเวลาในการทำวิจัย

โครงงานวิจัยนี้จะใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง
30 กันยายน 2558

นิยามศัพท์

  1. ผู้ประกอบกิจการ

หมายถึง ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือ
ผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ ในที่นี้หมายถึง ผู้ให้บริการสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นภายในประเทศไทย

  1. เคเบิลทีวี

หมายถึง ระบบการให้บริการสัญญาณทีวีที่เกิดจากการรวบรวมรายการต่าง ๆ ที่มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จากแหล่งต่างๆ มารวมไว้ด้วยกัน เช่น ระบบฟรีทีวี , ระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม ทั้ง C-BAND และ KU-BAND , ระบบ VDO, VCD, DVD , ระบบ MMDS , ระบบ Handisk, ระบบคอมพิวเตอร์ และระบบอื่น ๆ ที่จะมีมาเพิ่มขึ้นในอนาคต รวบรวมเข้าไว้ด้วยกันแล้วนำมาจัดความถี่ในการส่งใหม่ให้เป็นระเบียบ เพื่อส่งสัญญาณออกไปทางสาย หรือ ทางคลื่น ตรงไปยังทีวี ทำให้เครื่องรับทีวีสามารถรับภาพรายการต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมไว้ได้หลายช่อง ตามความต้องการ

  1. เคเบิลทีวีท้องถิ่น

หมายถึง เป็นสื่อโทรทัศน์อีกแขนงหนึ่งที่เปิดให้บริการประชาชนในรูปแบบโทรทัศน์
แบบบอกรับสมาชิก แพร่ภาพ เสียง ไปทางสายเคเบิลใยแก้ว (Fiber Optic)

  1. ระบบโทรทัศน์

หมายถึง การถ่ายทอดเสียงและภาพพร้อมกันจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยเครื่องที่เปลี่ยนสัญญาณภาพและเสียงเป็นคลื่นโทรทัศน์ เรียกว่า เครื่องส่งโทรทัศน์ (TV Transmission) และเครื่องที่เปลี่ยนคลื่นโทรทัศน์เป็นสัญญาณภาพและเสียง เรียกว่า เครื่องรับโทรทัศน์ (TV Receiver )

  1. ระบบอนาล็อก

หมายถึง ระบบการรับ- ส่งสัญญาณภาพและเสียงในรูปสัญญาณอนาล็อกแบบ A.M. และ F.M. โดยมีการส่งเป็นสัญญาณแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการผสมคลื่นแบบ Vestigial Sideband (VSB) เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่มีการใช้งานทั่วไป เช่น โทรทัศน์ที่เป็นระบบ NTSC, PAL และ SECAM โดยในที่นี้หมายถึง ระบบการส่งสัญญาณของโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบ PAL ในการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์

  1. ระบบดิจิทัล

หมายถึง ระบบการรับ – ส่งสัญญาณภาพและเสียงที่มีรูปแบบมาตรฐานพัฒนามาจากโทรทัศน์อนาล็อกมีระบบการส่งสัญญาณภาพและเสียงแบบดิจิทัลคือส่งข้อมูลเป็นบิต เป็นการผสมคลื่นแบบ COFDM โดยในหนึ่งช่องสัญญาณสามารถนำมาส่งได้หลาย ๆ รายการโทรทัศน์ (Program ) เรียกว่า การแพร่กระจายคลื่นแบบหลากหลายรายการ (Multicasting) โดยในที่นี้หมายถึง ระบบการส่งสัญญาณของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งใช้การส่งระบบ DVB-T2 หรือ มาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินของประเทศไทย (Digital Terrestrial Television : DTTV)

ประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย

  1. เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบจากการเปลี่ยนถ่ายของระบบสัญญาณโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการ
  2. เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในการบริหาร การให้บริการแก่ลูกค้า และการพัฒนาสื่อในอนาคต

สรุปผลการวิจัย

  1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ประกอบกิจการ
    ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็นเพศชายร้อยละ 54.1 เพศหญิงร้อยละ 43.2 โดยมีช่วงอายุมากที่สุด คือช่วงอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 25.7 รองลงมาคือ 36-40 ปี และ 46-50 ปี ร้อยละ 18.9 ช่วงอายุระหว่าง 31-35 ปี ร้อยละ 17.6 ช่วงอายุระหว่าง 25-30 ปี และ 41-45 ปี ร้อยละ 9.5 และมีระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 16.2 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 59.5 ระดับปริญญาโท ร้อยละ 20.3 สูงกว่าระดับปริญญาโท ร้อยละ 2.7 เป็นเจ้าของกิจการ ร้อยละ 39.2 รองลงมาคือตำแหน่งพนักงาน ร้อยละ 39.2 ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วน ร้อยละ 13.5 ในตำแหน่งอื่นๆ ร้อยละ 6.8ระยะเวลาในการดำเนินกิจการของสถานประกอบ สูงสุดอยู่ในระยะเวลา 11-15 ปี ร้อยละ 32.4 และน้อยที่สุดอยู่ที่น้อยกว่า 5 ปี คือ ร้อยละ 5.4 โดยลักษณะขององค์กรหรือสถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นอยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัด ร้อยละ 59.5 มากที่สุด รองลงมา คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร้อยละ 39.2 และในลักษณะบริษัทจำกัด (มหาชน) ร้อยละ 1.4 ในขณะที่จำนวนพนักงานในองค์กร หรือสถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 1-5 คน ร้อยละ 27 และน้อยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 16-20 คน อยู่ที่ร้อยละ 9.5
  2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับองค์กรหรือสถานประกอบการสถานที่ในการดำเนินกิจการ เฉพาะภายในเขตเทศบาล ร้อยละ 17.6 เฉพาะภายในจังหวัด ร้อยละ 17.6 เฉพาะภายในเขตอำเภอเมือง ร้อยละ 17.6 เฉพาะภายในเขตอำเภอต่างๆ ร้อยละ 17.6 เฉพาะภายในตำบลหรือเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 23 เขตพื้นที่อื่นๆ ร้อยละ 4.1 และไม่ได้ระบุพื้นที่ ร้อยละ 4.1

    โดยมีอัตราค่าบริการต่อเดือนอยู่ที่ 200-300 บาท คิดเป็นร้อยละ  45.9 รองลงมาคือ อัตราค่าบริการ 301-400 บาท ร้อยละ 39.2 อัตราค่าบริการ 401-500 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.1 อัตราค่าบริการ 501-600 บาท ร้อยละ 5.4 และผู้ที่ไม่ได้ระบุไว้ จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 5.4

    ภายในสถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นได้มีการผลิตรายการโทรทัศน์เป็นของตนเองโดยแบ่งแบ่งออกเป็น การผลิตรายการข่าวท้องถิ่น ร้อยละ 34.8, รายการสารคดีท่องเที่ยว ร้อยละ 12.2, รายการสารคดีความรู้ ร้อยละ 7.8, รายการเพลงหรือดนตรี ร้อยละ 7.8, รายการกีฬา ร้อยละ 6.1, รายการอื่น ๆ ได้แก่ รายการการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในจังหวัด รายการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีการซื้อรายการจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นต้น ร้อยละ 3.5 และส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้ ร้อยละ 27.8 ในขณะที่ช่องทางของสื่อที่ใช้ในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นไปยังประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ โดยทางสถานประกอบการส่วนใหญ่นิยมใช้ใบปลิวเป็นสื่อในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 21.9 รองลงมาคือการใช้ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 21.3 และช่องทางสื่อที่มีการใช้น้อยที่สุด คือ ทางหนังสือพิมพ์หลัก ร้อยละ 1.1

    ด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในองค์กร มีการนำเอาเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออันทันสมัยมาใช้ในพัฒนา ในส่วนที่นำมาใช้มากที่สุด คือ วิธีการในการรับ-ส่งสัญญาณหรือแพร่ภาพสัญญาณ ร้อยละ 37.6 ในขณะที่บางแห่งยังไม่ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออันทันสมัยมาใช้ในพัฒนาหรือยังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการพัฒนา อยู่ที่ร้อยละ 24.8

    ด้านการทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น สถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมีการดำเนินงานในด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์กับท้องถิ่น ร้อยละ 27.8 ด้านกีฬา ร้อยละ 17.4 ด้านการศึกษาหรือการให้ความรู้ ร้อยละ 13.9 ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในท้องถิ่นและด้านสาธารณสุข ร้อยละ 13.2 ในขณะเดียวกันก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ การเป็นศูนย์ข่าวการประชาสัมพันธ์ของจังหวัดหรืออำเภอ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์งานราชการ การประชาสัมพันธ์งานการกุศล การรับบริจาคสิ่งของ การรายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่น ร้อยละ 3.4

    จุดแข็งขององค์กรหรือสถานประกอบการที่ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นยอมรับ คือ การมีช่องรายการที่มีคุณภาพ และมีช่องรายการที่หลากหลาย ร้อยละ 19.8 รองลงมา คือ มีทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ในด้านเทคนิคอุปกรณ์เครื่องมือ และการบริหารงานภายในองค์กร ร้อยละ 18.6 การมีชื่อเสียงด้านการบริการลูกค้าที่ดี ร้อยละ 15 มีกระบวนการผลิตหรือการให้บริการที่ดี ร้อยละ 12.6 จุดแข็งในด้านอื่น ๆ ได้แก่ มีช่องรายการตรงกับความต้องการของลูกค้า  น้อยที่สุดอยู่ร้อยละ 2

    อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นก็มีจุดอ่อนหลากประการที่พบปัญหามากที่สุด คือ ด้านปัญหาการลงทุน ร้อยละ 41.7 รองลงมาคือ จุดอ่อนด้านเครื่องมือที่ล้าสมัย ร้อยละ 18.5 จุดอ่อนด้านการขาดทักษะความชำนาญหรือแรงงานด้านเทคนิค และการขาดทักษะความรู้หรือแรงงานด้านงานสื่อสารมวลชน อย่างละร้อยละ 12 และในด้านอื่นๆ ได้แก่ เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเครื่องมือและอุปกรณ์ในระบบดิจิทัล การขาดแรงงานความรู้และเทคนิคด้านระบบดิจิทัล ร้อยละ 5.6

  3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานในระยะ 5 ปีแรกของการเริ่มต้นดำเนินกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ประสบปัญหาการสนับสนุนด้านเงินลงทุน ร้อยละ 22.3 ซึ่งปัญหาที่พบในอันดับถัดมา คือ ปัญหาด้านอุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัยในการผลิตรายการ พบร้อยละ 19.3 ปัญหาการขาดทักษะ ความรู้ ด้านการบริหารงาน ร้อยละ 12.7 การขาดทักษะด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ ร้อยละ 15.1 การขาดทักษะความรู้ด้านงานสื่อสารมวลชนและปัญหาด้านกลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้บริการ ร้อยละ 12 ปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ การทับซ้อนของสัญญาณในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้กัน พบน้อยสุดอยู่ที่ร้อยละ 4.2

    ปัญหาในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล ทางสถานประกอบการประสบเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีราคาสูง พบมากสุดอยู่ที่ร้อยละ 36.1 ปัญหาต่อมาคือ ในเรื่องของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการและการผลิตรายการของทางสถานประกอบการ ร้อยละ 25 ปัญหาในเรื่องของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำหรือมีราคาไม่คงที่ ร้อยละ 19.4 และปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ต้นทุนที่สูงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ร้อยละ 4.6

    นอกจากนี้ ปัญหาด้านแรงงานก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัลพบมากที่สุด คือ การขาดแรงงานด้านช่างเทคนิค ร้อยละ 42.9 รองลงมาคือ ปัญหาการขาดแรงงานด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ ร้อยละ 18.7 และแรงงานด้านงานทั่วไป ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การบริการ พบร้อยละ 11 ในขณะที่ปัญหาการขาดแรงงานด้านการบริหาร ร้อยละ 3.3 และปัญหาการขาดแรงงานด้านอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านเทคโนโลยีหรือด้านไอที ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการวางแผนด้านการตลาด ร้อยละ 2.2

    ปัญหาด้านการตลาดและการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล พบว่า อัตราค่าอุปกรณ์ติดตั้งในการรับ-ส่งสัญญาณที่สูงเกินไปสำหรับผู้ใช้บริการ พบอยู่ที่ร้อยละ 28, ปัญหาด้านการขาดการโฆษณาและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ร้อยละ 16 สถานที่ในการให้บริการตั้งอยู่ในเส้นทางที่เดินทางไม่สะดวก ทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้น้อย หรือเดินทางเข้ามาเพื่อมาชำระค่าบริการได้ยาก พบร้อยละ 15 ปัญหาอัตราค่าบริการรายเดือนหรือรายปีที่สูงเกินไป พบร้อยละ 14 และปัญหาด้านการตลาดและการให้บริการในด้านอื่น ๆ คือ ปัญหาคู่แข่งทางด้านการตลาด ได้แก่ จานดาวเทียม เคเบิลทีวีหลัก true vision พบร้อยละ 21

    ปัญหาด้านเทคนิคทางภาพและเสียงก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ปัญหาแรกที่พบคือ ปัญหาด้านสัญญาณภาพไม่ชัดเจนในบางพื้นที่ พบร้อยละ 32.8 อันเนื่องจากสภาพทางกายภาพในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่ติดชายทะเล พื้นที่ในหุบเขา หรือภูเขา หรือในเมืองที่มีตึกสูง เป็นต้น ปัญหาที่สอง คือ ปัญหาด้านการรับส่งสัญญาณขัดข้อง พบร้อยละ 18 และปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาด้านอุปกรณ์ในการรับส่งสัญญาณชำรุด หรือบางจุดมีการติดตั้งที่ไม่สมบูรณ์ พบน้อยสุดอยู่ที่ร้อยละ 3.9

    จากการเปลี่ยนแปลระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปเป็นระบบดิจิตอลในปี 2558 ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีภายในประเทศไทยได้รับผลกระทบร้อยละ 81.1 และไม่ส่งผลกระทบ ร้อยละ 18.9ในขณะที่การเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลในปี 2558 ของสถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นได้มีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน โดยด้านแรกที่มีการเตรียมพร้อม คือ ด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแพร่กระจายสัญญาณระบบดิจิตอล ร้อยละ 28 การเตรียมด้านการวางแผนและการบริหารงานภายในองค์กร ร้อยละ 25.4 ความพร้อมในด้านบุคลากร ช่างเทคนิค หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะระบบดิจิตอล ร้อยละ 14.4 และการเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ ได้แก่ การวางแผนด้านการตลาด การจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากร พบร้อยละ 5.9    ในส่วนที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบโทรทัศน์ที่เป็นผลกระทบมากที่สุด คือ จำนวนฐานลูกค้าหรือฐานสมาชิกที่เริ่มลดลง พบร้อยละ 25.6 เงินลงทุน พบร้อยละ 21.7 เครื่องมือเทคโนโลยี พบร้อยละ 16.7 จำนวนช่องในการให้บริการ พบร้อยละ 15.8 พื้นที่ในการให้บริการ พบร้อยละ 9.4 การกำหนดค่าบริการสมาชิก พบร้อยละ 8.4 ปัญหาในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ด้านการตลาด การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ พบร้อยละ 2.5 พบน้อยที่สุด

  4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ กฎหมาย เกี่ยวกับการประกอบกิจการสื่อเคเบิลทีวีปัญหาด้านกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบที่มีผลต่อการดำเนินงานธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่น ปัญหาค่าดำเนินการคำขอใบอนุญาต หรือ การต่ออายุใบอนุญาตที่สูงเกินไป ร้อยละ 25.8 กฎระเบียบการขออนุญาตในการแพร่ภาพมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ร้อยละ 24.5 กฎระเบียบการออกใบอนุญาตมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ร้อยละ 16.6 กฎระเบียบขั้นตอนการขออนุญาตในการแพร่ภาพยังไม่ชัดเจน ร้อยละ 13.5 กฎระเบียบด้านการออกใบอนุญาตยังไม่ชัดเจน พบร้อยละ 11.7 และปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหากฎเกณฑ์บางข้อที่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น พบร้อยละ 8 ในขณะที่ช่องทางในการรับทราบข่าวสารในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นพบมากที่สุด คือ หนังสือราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 32.9 ทางสื่อโทรทัศน์ช่องฟรีทีวี ร้อยละ 26 ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Newsletter พบร้อยละ 11.6 ในขณะที่จากแหล่งอื่น ๆ ได้แก่ ทาง SMS  พบเพียงร้อยละ 4.1

    ในด้านความต้องการของผู้ประกอบกิจการที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนหรือให้คำปรึกษาองค์กรสนับสนุนหรือให้คำปรึกษาองค์กร สิ่งที่ต้องการได้รับสนับสนุน คือ ด้านเทคโนโลยี พบร้อยละ 19.7 การให้ข้อมูล สนับสนุน ช่วยเหลือแหล่งเงินทุน/สินเชื่อ พบร้อยละ 18.8 และในด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตรายการ พบน้อยที่สุดอยู่ที่ ร้อยละ 3

    ในด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นเกี่ยวกับการให้เคเบิลทีวีเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบข่าวท้องถิ่นประสานกับทางรายการข่าวช่องฟรีทีวี เห็นด้วย ร้อยละ 82.4 และไม่เห็นด้วย ร้อยละ 17.6 โดยให้เหตุผลว่า สื่อเคเบิลทีวียังไม่มีศักยภาพเพียงพอในด้านการผลิตข่าวท้องถิ่น

    ความคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการที่มีต่อหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการประกอบกิจการฯ ควรให้มีการกำหนดตามจำนวนสมาชิก ร้อยละ 29 กำหนดตามขนาดพื้นที่บริการ ร้อยละ 25.5 กำหนดตามจำนวนช่องที่ออกอากาศ ร้อยละ 8.2 กำหนดตามจำนวนสถานี ร้อยละ 4.5 กำหนดหลักเกณฑ์อื่น ๆ ร้อยละ 10 ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 17.3 และความคิดเห็นอื่น ๆ นอกจากการกำหนดหลักเกณฑ์ ร้อยละ 5.5

    การกำหนดระยะเวลาอายุของใบอนุญาต การกำหนดระยะเวลาอายุของใบอนุญาตควรระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี ร้อยละ 58.7 กำหนดระยะเวลาอายุของใบอนุญาตควรระยะเวลาประมาณ 16-20 ปี ร้อยละ 24 การกำหนดระยะเวลาอายุของใบอนุญาตควรระยะเวลาประมาณ 21-25 ปี ร้อยละ 14.7 และไม่ได้มีการระบุ ร้อยละ 1.3

  5. สรุปผลข้อมูลเสนอแนะเพิ่มเติมผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีได้มีการให้ความเห็นเพิ่มเติมจากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น โดยสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นต้องการมีดังนี้
    1. ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีอยากให้หน่วยงานมีมาตรฐานในการจัดระเบียบเอกสารและขั้นตอนการยื่นเอกสารที่สะดวก รวดเร็ว และมีความเหมาะสม
    2. ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นอยากให้หน่วยงานมีการสนับสนุนการทำงาน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหาร การตลาด หรือการเงิน รวมทั้งแนะนำสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อให้กับทางผู้ประกอบกิจการ
    3. ควรมีการจัดแยกกฎระเบียบ ข้อบังคับ ให้กับเคเบิลทีวีแต่ละประเภทตามขนาดขององค์กร เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการออกค่าธรรมเนียม
    4. หน่วยงานของรัฐต้องมีวิธีการมาตรการจูงใจให้หรือกลยุทธ์ให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นรวมกิจการกัน เพื่อให้สถานประกอบการมีความอยู่รอด และคุณภาพของการบริการต่อสมาชิก 

อภิปรายผลการวิจัย

  1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม จำแนกตามอายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งงานที่รับผิดชอบในองค์กรหรือสถานประกอบการ ระยะเวลาในการดำเนินกิจการที่ผ่านมา ลักษณะขององค์กรหรือสถานประกอบการที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ และจำนวนพนักงานในองค์กรหรือสถานประกอบการ ทั้งนี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งทางด้านประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อการดำเนินงานด้านการบริหารงานหรือการบริหารกิจการธุรกิจ เป้าหมายสำคัญของการประกอบการธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดย่อมและขนาดใหญ่ คือ ความสำเร็จของกิจการ
    ที่ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารธุรกิจประสบผลสำเร็จ ธุรกิจสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นถือเป็นธุรกิจสื่อที่มีความต้องการเจาะกลุ่มประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญด้านการบริหารงาน และประสบการณ์ ตลอดจนความเข้าใจถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นที่ต้องการบริโภคสื่อในรูปแบบใด สอดคล้องกับธนวุฒิ พิมพ์กิ (2556, 1-4) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการประกอบการธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดย่อมและขนาดใหญ่ คือ ความสำเร็จของกิจการที่ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษในด้านต่างๆ การบริหารธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น ด้านตัวผู้ประกอบการ ด้านการบริหาร ด้านสภาพแวดล้อม เป็นต้นในส่วนของตำแหน่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ระยะเวลาในการดำเนินกิจการที่ผ่านมา ลักษณะขององค์กรหรือสถานประกอบการของผู้ตอบแบบสอบถาม และจำนวนพนักงานในองค์กร สามารถส่งผลต่อพื้นฐานการบริหารงานภายในองค์กรหรือสถานประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะขององค์กรหรือสถานประกอบการ และระยะเวลาในการดำเนินกิจการที่ผ่านมา สามารถส่งผลต่อการยอมรับ

    ของประชาชนในท้องถิ่นที่มีต่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นภายในเขตพื้นที่ของตนเอง สอดคล้องกับธนวุฒิ พิมพ์กิ (2556, 1-4) กล่าวว่า การบริหารธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น ด้านตัวผู้ประกอบการ ด้านการบริหาร ด้านสภาพแวดล้อม เป็นต้น โดยมีส่วนประกอบย่อยที่สำคัญ เช่น มีทำเลที่ตั้งเหมาะสม มีแหล่งเงินทุนที่ดี การจัดการบริหารแรงงาน การใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

  2. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับองค์กรหรือสถานประกอบการ การบริหารงานขององค์กรหรือสถานประกอบการนอกจากการศึกษาในด้านประชากรศาสตร์แล้ว การได้รับการยอมรับจากประชาชนในท้องถิ่น ถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว เคเบิลทีวีท้องถิ่นมีการให้บริการทั่วทั้งประเทศไทยและมีการแบ่งพื้นที่ในการให้บริการออกเป็นหลากหลายประเภท เช่น บางแห่งมีการให้บริการเฉพาะภายในเขตเทศบาล บางแห่งมีการให้บริการแค่เฉพาะภายในอำเภอ หรือจังหวัด หรือบางแห่งอาจมีพื้นที่ในการครอบคลุมการให้บริการที่มากกว่า 1-2 จังหวัด เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินงานด้านธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะยังคงอยู่ต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ค่าใช้บริการ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัน การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ จุดอ่อนและจุดแข็งขององค์กรหรือสถานประกอบการ เป็นต้น ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรือสถานประกอบการจึงสอดคล้องกับ กมลวรรณ เทศสีหา กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมมีอุปสรรคการแข่งขันภายในตลาด สินค้าทดแทนอำนาจต่อรองจากผู้ขายและอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคสูง ข้อมูลการขายพบว่าตลาดมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มมากขึ้นซึ่งสอดคล้องการผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่มีผลกระทบต่อยอดขาย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของผลิตภัณฑ์ คือ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ ค่าใช้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราคาไม่เกิน 300-500 บาท ต่อเดือน และมีช่องรายการอยู่ที่ประมาณ 50-80 ช่องรายการ ซึ่งค่าบริการดังกล่าวก็จะมาจากการสำรวจความต้องการด้านการตลาดกับประชาชนในพื้นที่

    อย่างไรก็ตาม เคเบิลทีวีท้องถิ่นในยุคแรกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิศาสตร์ เช่น พื้นที่อยู่ในหุบเขา หรือติดชายทะเล  ทำให้รับสัญญาณภาพโทรทัศน์ได้ไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถรับสัญญาณภาพโทรทัศน์ได้ แต่ต่อมา เมื่อเกิดวิวัฒนาการของเทคโนโลยีรวมถึงสิ่งทีให้ความบันเทิงต่างๆ มากมายมาผนวกกับสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่น ทำให้เกิดความบันเทิงที่หลากหลายช่องรายการให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับชม ซึ่งในขณะนั้นช่องฟรีทีวีมีเพียง 6 ช่องรายการ ในขณะที่เคเบิลทีวีหลัก เช่น True Vision

    เป็นสื่อเคเบิลทีวีที่ได้รับความนิยมมาเป็น 10 กว่าปี แต่มีค่าบริการที่ค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนตามต่างจังหวัด แต่ประชาชนยังคงมีความต้องการข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงที่หลากหลาย เช่นกัน เพียงแต่ค่าคล้องชีพในแต่ละจังหวัดอาจไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกับคนในเมืองหลวง หรือคนที่มีกำลังทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ เคเบิลทีวีท้องถิ่นจึงต้องมีการสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างจุดแข็งในการให้บริการแก่ลูกค้า โดยอาศัยความเป็นสื่อสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น สอดคล้องกับงานวิจัยของ พงศ์กฤษฏิ์   พละเลิศ (2554) ที่ได้กล่าวถึงแนวความคิดท้องถิ่นนิยมว่า สังคมในยุคโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในสังคมปัจจุบัน กระแสสังคมถูกผลักดันให้เข้าสู่กระแสวัตถุนิยมและลัทธิบริโภคนิยม โดยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายค่านิยมของการบริโภคไปสู่ชุมชนทั้งท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว

    ธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่น เป็นธุรกิจที่น่าสนใจและสร้างความแปลกใหม่ให้กับประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริโภคสื่อของประชาชนในท้องถิ่น และรายได้ส่วนหนึ่งของธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นมาจากค่าสมาชิกหรือค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของบริษัทห้างร้านในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นสามารถอยู่ได้ในพื้นที่ จึงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีอาจต้องอาศัยความเป็นท้องถิ่นนิยม คือ มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจภายในท้องถิ่นไปยังประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของเคเบิลทีวี และมองว่าเคเบิลทีวี คือ สื่อที่ตอบสนองข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้ ร่วมกับการบริโภคข่าวสารจากทางช่องฟรีทีวี สอดคล้องกับแนวคิดของ พัฒนา กิติอาษา (2546) กล่าวว่า Localization เป็นแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นการดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง สมเหตุผล พร้อมรับมือกับกระแสโลกาภิวัฒน์ซึ่งเป็นกระแสหลักที่กำหนดแนวทางการจัดระเบียบโลกในปัจจุบัน แนวคิดการพัฒนา Localization จึงไม่อาจแยกออกจากกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างเป็นเอกเทศ

    อย่างไรก็ตาม ลักษณะขององค์กรและการบริหารงานภายในองค์หรือสถานประกอบการ เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวยังคงอยู่ในท้องถิ่นต่อไป การศึกษาอุปสรรค ปัญหา ข้อดี และข้อเสียทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กรหรือสถานประกอบการ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานด้านธุรกิจ สอดคล้องกับ ธนวุฒิ พิมพ์กิ (2556) กล่าวคือ กระบวนการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ในการวางแผนทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กรหรือสถานประกอบการ การดำเนินงานด้านธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นต้องอาศัยทั้งสองปัจจัยนี้ในการพิจารณาประกอบกับการบริหารงาน

  3. ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล เคเบิลทีวีท้องถิ่นประสบปัญหามากมาย เช่น ปัญหาทางด้านการบริหารงาน ปัญหาทางด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัญหาทางด้านการตลาดปัญหาทางด้านแรงงาน ปัญหาทางด้านกฎเกณฑ์ กฎหมาย เป็นต้น การให้บริการสื่อเคเบิลทีวียังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเกิดปัญหาเป็นข้อถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างผู้ประกอบกิจการและรัฐบาลมาโดยตลอด โดยปัญหาที่พบในส่วนของการดำเนินงานที่ประสบปัญหามากที่สุด คือ ด้านการลงทุน รองลงมา คือ การบริหารงาน และเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี เมื่อถึงคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลในปี 2558 ปัญหาดังกล่าวยังคงได้รับผลกระทบตามมาอย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่า เมื่อถึงยุคของการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลในปี 2558 หนึ่งปัญหาตามมา คือ ปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งกลายเป็นแรงงานสำคัญในยุคนี้ โดยยุคก่อนของเคเบิลทีวีท้องถิ่น ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในองค์กรหรือสถานประกอบการ คือ การขาดแรงงานด้านช่างเทคนิค การซ่อมแซม หรือการปรับปรุงระบบการส่งสัญญาณผ่านสายโทรทัศน์ หรือการติดตั้งสายสัญญาณภายในครัวเรือน ในขณะที่ปัญหาที่พบในปัจจุบัน การขาดแคลนแรงงานด้านเทคนิคยังคงพบอยู่ แต่กลับพบปัญหาเพิ่มขึ้น คือ แรงงานด้านระบบดิจิตอล ทั้งด้านการผลิตรายการ และด้านระบบการรับ-ส่งสัญญาณในการออกอากาศ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบกิจการจึงต้องการแรงงานบุคคลด้านนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตามมา และเพื่อแข่งขันกับสื่อใหม่ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เคเบิลทีวีหลัก True Vision จานดาวเทียม แม้กระทั่งช่องโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีจำนวนช่องรายการถึง 48 ช่องรายการ ซึ่งจาการวิจัยพบว่า การที่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีจำนวนช่องรายการถึง 48 ช่องรายการ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้บริการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมีการยกเลิกการใช้บริการ โดยให้ความเห็นว่าจำนวน 48 ช่องรายการมีความเพียงพอต่อการรับชม และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สอดคล้องกับ วรวิทย์ แซ่หลี (2555) กล่าวถึง วิวัฒนาการของเคเบิลทีวีไทย จะมีการพัฒนามากขึ้นตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งจะมีต้นทุนสูงขึ้นแล้ว คู่แข่งก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และสอดคล้องกับ วรวิทย์ แซ่หลี (2555) การพัฒนาสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะมีการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับสารด้วยเช่นกัน
  4. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ กฎหมาย เกี่ยวกับการประกอบกิจการสื่อเคเบิลทีวี เคเบิลทีวีท้องถิ่นมักจะประสบปัญหาในการเรื่องของกฎเกณฑ์การออกใบอนุญาตหรือการแพร่ภาพสัญญาณ รวมถึงการการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง เพราะผู้ใช้บริการสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นส่วนใหญ่เห็นว่ามีข้อกฎหมาย และกฎเกณฑ์หลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ซึ่งจากการวิจัยพบปัญหาด้านกฎเกณฑ์ หรือ กฎหมายที่เป็นปัญหาเด่นชัด เช่น ปัญหาค่าดำเนินการคำขอใบอนุญาต หรือ การต่ออายุใบอนุญาตที่สูงเกินไป ขั้นตอนการออกใบอนุญาตและขอแพร่ภาพสัญญาณที่ไม่ชัดเจน มีขั้นตอนในการขอที่ซับซ้อน เป็นต้น  ในขณะนี้รัฐบาลมีความพยายามในการพิจารณาเพื่อแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่ใช้ในการควบคุม กำกับและดูแล ธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งได้ผ่านการแก้ไขมาหลายครั้ง และพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายเพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น โดยการอนุญาตให้เคเบิลทีวีดำเนินการหารายได้โดยการทำการโฆษณาได้ ในขณะเดียวกันจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุม กำกับ และดูแลให้เหมาะสมและมีความเป็นธรรมที่สุดอย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมากที่สุด คือ ขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทั้งในส่วนของขั้นตอนการขออนุญาตในการแพร่ภาพ และกฎระเบียบด้านการออกใบอนุญาตที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นพบว่ามีภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 คือพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551   ที่มีการตีความเกี่ยวกับเคเบิลทีวีท้องถิ่นผิดไปจากความเป็นจริง หรือเนื้อหาบางส่วนไม่ครอบคลุมถึงสื่อเคเบิลทีวีท้องถิ่น ส่งผลให้การดำเนินงานธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการส่วนใหญ่ต้องการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับแนวคิดของ ธนวุฒ พิมพ์กิ (2556) กล่าวว่า กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการควรมีการศึกษาไว้เป็นพื้นฐานของการดำเนินกิจการ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทำตามกฎระเบียบตามที่กฎหมายกำหนด และส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของผู้ประกอบกิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างถูกต้อง
  5. ข้อมูลเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ในการขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการทางเครือข่ายเคเบิลนั้น ต้องมีการใช้เอกสารค่อนข้างมาก และมีขั้นตอนในการยื่นขอหลายขั้นตอน จึงทำให้อาจเกิดความสับสนในเรื่องของเอกสารและขั้นตอนการยื่นขอได้ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงทำให้สถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาในเรื่องของการลงทุน และกฎระเบียบ ข้อบังคับ ที่ใช้แบบเดียวกันกับองค์กรใหญ่ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงควรมีการจัดแยกประเภทเคเบิลทีวีท้องถิ่นเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการออกค่าธรรมเนียม เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่มีการดำเนินงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งในเรื่องของการถือใบอนุญาต หรือแพร่ภาพสัญญาณ ตลอดจนการการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ อยู่ประมาณ 80 แห่ง ในขณะที่อีกหลายแห่งยังประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต การขออนุญาตแพร่สัญญาณ หรือปัญหาด้านการลงทุน ทำให้กิจการขนาดเล็กบางแห่งเริ่มมีการปิดกิจการลง ในขณะที่กิจการขนาดกลางอาจมีการรวมตัวกัน หรือพยายามพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อให้สนองตอบความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยครั้งนี้ทำให้ผู้วิจัยพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเคเบิลทีวีท้องถิ่นก่อนการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์ในปี 2558 โดยปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ ด้านการลงทุน รองลงมา คือ ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถานประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ในปี 2558 ปัญหาดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่ต้องมีการลงทุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อในปี 2558 และพบว่ามีผลกระทบเพิ่มขึ้น คือ ด้านเทคโนโลยีในระบบดิจิตอล ได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตรายการ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่สถานประกอบการหลายแห่งยังขาดแคลนด้านเทคโนโลยีดังกล่าว และปัญหาด้านแรงงานช่างเทคนิคด้านระบบดิจิตอล เนื่องจากสื่อทุกสื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในระบบดิจิตอลเป็นจำนวนมาก จึงทำให้แรงงานช่างเทคนิคด้านดิจิตอลเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงปัญหาด้านฐานจำนวนสมาชิกหรือผู้ใช้บริการที่เริ่มลดลง เนื่องจากโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลมีการนำเสนอช่องรายการจำนวน 48 ช่องรายการ ทำให้ผู้ใช้บริการมองว่า มีช่องรายการเพียงพอต่อการรับชม จึงมีการยกเลิกการเป็นสมาชิก ทำให้จำนวนฐานลูกค้าเริ่มลดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในอนาคตได้

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

  1. ควรมีการปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัย จากการใช้วิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์เป็นการใช้แบบสอบถามบวกกับการสัมภาษณ์ผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  2. ควรมีการจำกัดขอบเขตพื้นที่ในการศึกษาให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงประเด็น ครบถ้วน สมบูรณ์ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ ขนาดขององค์กรหรือสถานประกอบการ และการบริหารงานภายในองค์กรหรือสถานประกอบการ
  3. กฎเกณฑ์ และกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ผู้วิจัยจึงควรมีการศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง