PRODUCT PLACEMENT PERCEPTION IN DRAMA SERIES ON DECISION OF RAJAMAGALA UNIVERSITY OF TECHNOLOGY THUNYABURI STUDENT : CLUB FRIDAY THE SERIES

ผู้วิจัย จารุณี เจริญรส

ปีงบประมาณ 2558


บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี : กรณีศึกษา Club Friday the Series วัตถุประสงค์การวิจัย (1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุดของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (2) เพื่อศึกษาโฆษณาแฝงในละครชุดที่มีผลต่อการรับรู้และตัดสินใจซื้อสินค้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่เคยชมละครชุด Club Friday the Series จำนวน 400 คน ด้วยวิธีตอบแบบสอบถาม และเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผลทางสถิติ และทดสอบสมมติฐานการวิจัยด้วยโปรแกรม SPSS (Statistical Package for the Social Science) for Windows ผลการวิจัย พบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ชมละครชุด Club Friday the Series ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ศึกษาอยู่ชั้นปีการศึกษาที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือนพฤติกรรมการรับชมละครชุด Club Friday the Series ส่วนมากชมผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์ GMM ช่อง 25 ความถี่ในการรับชม 2-3ครั้ง/เดือน ประเภทของสินค้าที่พบเห็นโฆษณาแฝงมากที่สุด คือ สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และรูปแบบในการโฆษณาที่พบเห็นมากที่สุด คือ การโฆษณาแฝงผ่านบุคคลการรับรู้โฆษณาแฝงที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า พบว่า การโฆษณาแฝงผ่านละครชุด Club Friday the Series มีผลต่อการรับรู้และตัดสินใจซื้อสินค้าอยู่ในระดับปานกลาง โดยปัจจัยที่สร้างการรับรู้โฆษณาแฝงมากที่สุด คือ การนำเสนอโฆษณาแฝงโดยการเคลื่อนไหว เช่นการเคลื่อนที่สินค้า การใช้สินค้า การเคลื่อนกล้องผ่านสินค้า รูปแบบการโฆษณาแฝงที่สร้างการรับรู้โฆษณาแฝงมากที่สุด คือ การใช้รูปแบบโฆษณาแฝงผ่านบุคคล และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุดคือ การโฆษณาแฝงผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่ชื่นชอบ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุด

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด(series) ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  2. เพื่อศึกษาโฆษณาแฝงในละครชุด (series) ที่มีผลต่อการรับรู้และตัดสินใจซื้อสินค้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

โจทย์การวิจัย

  1. พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด(series) ของนักศึกษามหาวิทยาลัย
    เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีแตกต่างกันอย่างไร
  2. โฆษณาแฝงในละครชุด (series) มีผลต่อการรับรู้และตัดสินใจซื้อสินค้าของนักศึกษา
    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีอย่างไร

สมมติฐำนการวิจัย

สมมติฐานการวิจัยที่ 1

ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าแตกต่างกัน

สมมติฐานการวิจัยที่ 2

พฤติกรรมการรับชมละครชุด Club Friday the Series ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าแตกต่างกัน

ขอบเขตการวิจัย

  1. เก็บข้อมูลจากเอกสารที่เป็นบันทึก วารสาร บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series
  2. เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณาแฝงจากละครชุด Club Friday the Series โดยการเปิดรับชมละครย้อนหลังจากอินเทอร์เน็ต เช่น www.youtube.com
  3. เก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (series) ที่มีผลต่อการซื้อสินค้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะศึกษาเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เคยรับชมละครชุด (series) Club Friday the series จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถาม
  4. วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรม SPSS ((Statistical Package for the Social Science)
    for Windows)
  5. สรุปผลการวิเคราะห์ในรูปแบบอธิบายประกอบตาราง

นิยามศัพท์เฉพาะ

ละครชุด (series) หมายถึง ละครชุด Club Friday the series ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ทางช่อง GMM25 ช่อง 25 ในระบบดิจิทัล และช่อง 35 ในระบบเคเบิล ดาวเทียม ทุกวัน เสาร์ เวลา 20.00 – 21.00 น. หรือรับชมผ่านระบบออนไลน์โดยผ่านทาง Youtube และ Line TV

การรับรู้ (Perception) หมายถึง การรับรู้เกี่ยวกับโฆษณาแฝงที่ปรากฏในละครชุด Club Friday the series ด้วยการมองเห็น หรือการได้ยิน และสามารถรู้ได้ว่าเป็นการโฆษณา

การจัดสินใจซื้อ (Decision) หมายถึง การตัดสินใจที่จะซื้อสินค้า หรือใช้บริการจากการได้รับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the series

โฆษณาแฝง (Product Placement) หมายถึง โฆษณาที่ปรากฏในละครชุด Club Friday the series ในทุกรูปแบบ เช่น การแฝงบุคคล โดยให้นักแสดงหยิบ จับ ใช้สินค้า การแฝงวัตถุ โดย การวางวัตถุไว้ในฉาก การแฝงกราฟิก โดยการนำเสนอภาพกราฟิกตราสินค้า หรือภาพสินค้าให้ปรากฏในจอ การแฝงเนื้อหา โดยการให้นักแสดงพูดถึงสินค้าหรือบริการ หรือแฝงสปอตสั้นหรือ VTR โดยปรากฏขึ้นก่อนและหลังจากละครจบกลุ่มเป้ำหมำย หมายถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เคยรับชมละครชุด Club Friday the series

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผลการวิจัยจะได้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางให้กลุ่มผู้ผลิตละครหรือเจ้าของสินค้า วางแผนและผลิตโฆษณาแฝงในละครชุด(series) ได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค
  2. ผลการวิจัยจะได้ข้อมูลให้กลุ่มผู้ผลิตละครหรือเจ้าของสินค้า ใช้เป็นแนวทางในการเลือกรูปแบบการนำเสนอหรือสอดแทรกโฆษณาแฝงได้อย่างแนบเนียนและมีประสิทธิภาพส่งผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค

กรอบแนวคิดในการวิจัย

แบบจำลองในการวิจัยประกอบด้วย ตัวแปรอิสระได้แก่ ลักษณะประชากรของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พฤติกรรมการรับชมละครชุด Club Friday the Series การรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series รูปแบบการโฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ตัวแปรตามได้แก่ การตัดสินใจซื้อสินค้าจากการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series


สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

สรุปผลการวิจัย

การวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี : กรณีศึกษา Club Friday the Series มีประเด็นที่นำมาสรุป ดังต่อไปนี้

ผลการวิจัยลักษณะประชากร

ผู้ชมภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง นักศึกษาชั้นปีที่1 รองลงมาได้แก่ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ศึกษาอยู่คณะบริหารธุรกิจมากที่สุด รองลงมาได้แก่คณะศิลปศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาทมากที่สุด รองลงมาได้แก่ 5,001-10,000 บาท

ผลการวิจัยพฤติกรรมการชมละครชุด Club Friday the Series

ผู้ชมส่วนใหญ่ชมละครชุด Club Friday the Series ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์ GMM ช่อง 25 มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ชมผ่านช่องทาง Line TV ความถี่ในการรับชมได้แก่ 2-3 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งผู้ชมร้อยละ 99.5 เคยพบเห็นการโฆษณาในละครชุด Club Friday the Series ประเภทสินค้าที่พบเห็นการโฆษณาแฝงมากที่สุดได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร/สุขภาพ และรูปแบบการโฆษณาแฝงพบเห็นมากที่สุด ได้แก่ การแฝงผ่านบุคคล (เช่นนักแสดงหยิบ จับ ใช้สินค้า) รองลงมาได้แก่ การแฝงวัตถุ (เช่นวางสินค้าประกอบในฉาก)

ผลการวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series

ปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงมากที่สุดได้แก่ การนำเสนอภาพสินค้าโดยการเคลื่อนไหวสินค้า (เช่น นักแสดงหยิบ จับ หรือใช้สินค้า) รองลงมาได้แก่ ตำแหน่งในการวางสินค้า (เช่น วางสินค้าด้านหน้าฉาก วางสินค้าด้านหลังฉาก) รูปแบบของการโฆษณาแฝงที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงมากที่สุด ได้แก่ การโฆษณาแฝงผ่านบุคคล (เช่น ให้นักแสดงหยิบ จับ หรือใช้สินค้า) รองลงมาได้แก่ การโฆษณาแฝงในรูปแบบสปอตโฆษณาสั้น หรือ VTR ก่อนหรือหลังละครจบ และปัจจัยที่ทำให้ผู้ชมระลึกถึงตราสินค้าที่ได้พบเห็นจากโฆษณาแฝงมากที่สุดได้แก่ การปรากฏภาพสินค้าอย่างเด่นชัด รองลงมาได้แก่ การโฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ช่วยให้จดจำตราสินค้าได้มากกว่าการโฆษณาในรูปแบบอื่น

ผลการวิจัยพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า

พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุดได้แก่ การโฆษณาแฝงผ่านบุคคล (เช่น ให้นักแสดงหยิบ จับ หรือใช้สินค้า) รองลงมาได้แก่ การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่ชื่นชอบนำเสนอโฆษณาแฝงทำให้รู้สึกอยากซื้อสินค้ามากขึ้น

ผลการทดสอบสมมติฐานการวิจัย

ผลการทดสอบสมมติฐานที่ 1

ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าต่างกัน พบว่า

ลักษณะประชากรด้าน เพศ ต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐาน

ลักษณะประชากรด้านระดับชั้นปีการศึกษา ต่างกัน พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐาน

ลักษณะประชากรด้าน คณะที่ศึกษา ต่างกัน พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐาน

ลักษณะประชากรด้าน รายได้ต่อเดือน ต่างกัน พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐาน

ผลการทดสอบสมมติฐานที่ 2

พฤติกรรมการรับชมละครชุด Club Friday the Series ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าแตกต่างกัน พบว่า

ช่องทางในการรับชมละครชุด Club Friday the Series ต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐาน

ความถี่ในการรับชมละครชุด Club Friday the Series ต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐาน

ประเภทของสินค้าที่โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐาน

รูปแบบของการโฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจชมภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนตร์ต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐาน

อภิปรายผล

ผลการวิจัย พฤติกรรมการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด (Series) ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี : กรณีศึกษา Club Friday the Series มีประเด็นที่ควรอภิปรายผลดังนี้

ด้านปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series โดยวิธีการหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า ผู้ชมละคร Club Friday the Series ปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงมากที่สุด ได้แก่ การนำเสนอภาพสินค้าโดยการเคลื่อนไหวสินค้าเช่น ให้นักแสดงหยิบ จับ ใช้สินค้า หรือการเคลื่อนไหวของภาพสินค้า รองลงมาได้แก่ตำแหน่งในการวางสินค้า การที่ผู้บริโภครับรู้โฆษณาแฝงจากการเคลื่อนไหวสินค้า โดยการให้นักแสดงหยิบ จับ ใช้สินค้า และการเลือกวางตำแหน่งของสินค้า อาจเนื่องมาจาก ธรรมชาติของการรับรู้ของมนุษย์ที่เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น ภาพ เสียง หรือกลิ่นผ่านการรับรู้ทางอวัยวะรับสัมผัส ได้แก่ ตา หู จมูก ปากและผิวหนัง การรับรู้ทางการเห็นจะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือความแตกต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ เสรี วงษ์มณฑา (2542) กล่าวว่า การเคลื่อนไหว (Movement) หมายถึง การที่วัตถุหรือสินค้าเคลื่อนที่ไปมา เช่น ป้ายโฆษณาที่มีไฟวิ่งไปวิ่งมาจะดึงดูดความสนใจมากกว่าป้ายโฆษณาที่มีไฟนิ่ง ๆ หรือภาพที่ปรากฏเป็นภาพนิ่งก็จะมีความน่าสนใจน้อยกว่าภาพที่มีการเคลื่อนไหว ดังนั้นสื่อโทรทัศน์จึงเป็นสื่อหนึ่งที่ทำให้เกิดการรับรู้ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่สามารถนำเสนอการเคลื่อนไหวผ่านภาพที่ปรากฏบนจอในรูปแบบการเคลื่อนไหวของกล้อง (Camera Movement) การเคลื่อนของวัตถุทำให้เห็นสินค้าได้ชัดเจนขึ้น และ สอดคล้องกับงานวิจัยของ ชพรรณ สุดปาน (2556) กล่าวว่า การวางสินค้าโดยการนำเสนอภาพสินค้า โดยวางตำแหน่งสินค้าให้โดดเด่นสามารถสังเกตเห็นได้ทันทีส่งผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝง

ด้านรูปแบบการโฆษณาแฝงที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการโฆษณาแฝงที่มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series โดยวิธีการหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า การโฆษณาแฝงในรูปแบบการแฝงผ่านบุคคล เช่น การให้นักแสดงใช้สินค้า มีผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝงมากที่สุดรองลงมาได้แก่ การแฝงในรูปแบบสปอตสั้น หรือ VTR ก่อนและหลังละครจบ รูปแบบของการโฆษณาแฝงผ่าบุคคล และผ่านสปอตสั้นหรือ VTR ส่งผลต่อการรับรู้โฆษณาแฝง อาจเนื่องมาจาก พฤติกรรมการรับชมละครของผู้บริโภคมักให้ความสนใจกับตัวแสดงในละคร ดังนั้นหากตัวแสดงหยิบจับสินค้าหรือเคลื่อนไหวก็จะส่งผลต่อการรับรู้ได้รวดเร็ว สอดคล้องกับ ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา (อ้างถึงใน พัชราภรณ์ พวงมณีม 2558) กล่าวว่า รูปแบบการโฆษณาแฝงผ่านบุคคล เป็นการกำหนดให้นักแสดงมีการหยิบ จับ สวมใส่ ใช้สินค้า เช่น เช่น นักแสดงทุกคนในละครบางเรื่องอาจ ใช้เฉพาะโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตบางยี่ห้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งขัดกับชีวิตจริงที่คนในสังคมมักใช้ โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตที่แตกต่างยี่ห้อกัน บางรายการก็ให้พิธีกรหรือนักแสดงสวมเสื้อที่สกรีนตราสินค้า เป็นต้น โฆษณาแฝงแบบนี้สังเกตไม่ยาก และการแฝงผ่านสปอตสั้นรือ VTR ทั้งก่อนและหลังจบละคร เป็นโฆษณาแฝงที่พบเห็นได้บ่อย เมื่อโฆษณาปกติจบลงก็จะเข้าสู่รายการ แต่ก่อนที่จะได้ชมรายการจริง ก็มีโฆษณาสั้นคั่นอยู่ มัก ปรากฏเป็นภาพนิ่งของตราสินค้าหรือบริการ และมีเสียงบรรยายบอกว่า “สนับสนุนรายการโดย…….” ส่วนรายการเกมโชว์มักจะมีโฆษณาแฝงประเภทนี้ก่อนหรือหลังเปิดป้ายรางวัลทำให้ผู้ชมเหมือนถูกบังคับให้นั่งชมโฆษณาไปด้วย และผู้ชมสังเกตได้ไม่ยากเช่นกัน

ด้านความสามารถในการรับรู้และจดจำตราสินค้าที่โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้และจดจำตราสินค้าที่โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series โดยวิธีการหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า การนำเสนอโฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ช่วยให้สามารถจดจำตราสินค้าได้โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า การปรากฏภาพสินค้าอย่างเด่นชัดช่วยให้สามารถจดจำตราสินค้าได้มากที่สุด อาจเนื่องมาจากธรรมชาติการรับรู้ของมนุษย์ที่มักจะสังเกตหรือมองเห็นสิ่งของที่ใหญ่ที่สุด เด่นที่สุดก่อนสิ่งอื่นแลเกิดการรับรู้ และเมื่อมีการรับรู้แล้วสมองก็จะเกิดการจดจำซึ่งอาจจะเป็นการจดจำในระยะสั้นหรือระยะยาวต่างกัน สอดคล้องกับ วุฒิ สุขเจริญ (2555) กล่าวว่า การรับรู้จากการมองเห็นจากการกระตุ้นจากสิ่งเร้าที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการรับรู้หรือการให้ความสนใจแตกต่างกัน เช่น ขนาด ตัวอักษร สี นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า ธรรมชาติของการรับรู้นั้นเมื่อผู้บริโภคเกิดความสนใจข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสจะถูกส่งไปยังสมองเพื่อประมวลผล จากนั้นจะเกิดกระบวนการแปลความหมาย ส่วนสิ่งกระตุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อย ผู้บริโภคก็จะใหความสำคัญในการประมวลผลน้อย จากนั้นผู้บริโภคจะเก็บข้อมูลไว้ในความทรงจำระยะสั้น เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน และถูกเก็บต่อไปยังความจำระยะยาวในรูปของประสบการณ์เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาในอนาคต และทำให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

ด้านการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยวิธีการหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบว่า การรับรู้โฆษณาแฝงในละครชุด Club Friday the Series ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า การแฝงโฆษณาผ่านบุคคล เช่นการให้นักแสดง หยิบ จับ หรือใช้สินค้ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุด รองลงมาได้แก่ การใช้บุคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลที่ชื่นชอบนำเสนอโฆษณาแฝงทำให้รู้สึกอยากซื้อสินค้ามากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยของ บุศย หิรัญกาญจน์ (2555) กล่าวว่า ปัจจัยต่อการตั้งใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคอันดับแรกคือ การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสนอสินค้าแสดงให้เห็นว่า การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงจะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มในการคล้อยตามและส่งผลให้เกิดความตั้งใจซื้อมากขึ้น

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

การวิจัยครั้งต่อไปขอเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. งานวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยต่อไปควรทำการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการใช้โฟกัสกรุ๊ปหรือสัมภาษณ์กลุ่ม เพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น
  2. ศึกษาผู้ชมละครชุดกลุ่มอื่น เพื่อให้ได้ข้อมูลในการเปรียบเทียบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น