The study prosthetic make up by para rubber to make a photographs for advertising films

จัดทำโดย ละม้ายศรี และ บุญฑริก อินทรเสน

สาขา เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาการทำเทคนิคเมคอัพโดยใช้ยางพาราเพื่อการถ่ายภาพประกอบโฆษณาภาพยนตร์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแต่งหน้าโดยใช้เทคนิค Prosthetic Make up หรือเทคนิคการแต่งหน้าเทคนิคพิเศษโดยใช้ยางพาราเป็นวัสดุ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใบหน้าและร่างกายแบบ

ในการศึกษาได้เลือกตัวละคร “Mystique” มาเป็นต้นแบบในการศึกษาครั้งนี้ โดยใช้วัตถุดิบยางพาราที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังมาทำผิวหนังเทียม และใช้เทคนิคด้านประติมากรรมงานปั้นและงานหล่อ เพื่อให้ได้ชิ้นผิวหนังเทียมที่มีความพอดีกับโครงสร้างใบหน้าและสัดส่วนโดยใช้เทคนิคการตกแต่งบนพื้นผิวยางพาราให้ใกล้เคียงกับสีผิวตัวละคร และทำการถ่ายวีดิทัศน์ขั้นตอนการผลิตผิวหนังเทียมและการตกแต่งตามใบหน้าและร่างกายของแบบ เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนการถ่ายภาพโฆษณาภาพยนตร์ และนำผลงานที่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งภาพ และผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งหน้าเทคนิคพิเศษประเมิน

ผลการศึกษาพบว่า การทำเทคนิคเมคอัพ ตัวละคร “Mystique” ด้วยเทคนิค Prosthetic makeup โดยใช้ยางพารานั้นมีความเหมาะสม ใช้งานได้ดี และสามารถนำไปใช้ได้จริง


วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาการแต่งหน้าโดยใช้เทคนิค Prosthetic Make up หรือเทคนิคการแต่งหน้าเทคนิคพิเศษโดยใช้ยางพาราเป็นวัสดุ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใบหน้าและร่างกายแบบ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถแต่งหน้าเทคนิคพิเศษด้วยเทคนิค Prosthetic make up โดยใช้ยางพาราเป็นวัสดุได้

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาปริญญานิพนธ์เรื่องการศึกษาการทำเทคนิคเมคอัพโดยใช้ยางพาราเพื่อการถ่ายภาพประกอบโฆษณาภาพยนตร์ให้ตรงกับโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง X-MEN: DAYS OF FUTURE PAST โดยเลือกตัวละคร คือ “มีสทีค” (Mystique) มาเป็นต้นแบบในการศึกษาครั้งนี้โดยใช้วัตถุดิบยางพาราที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังในการทำผิวหนังเทียม เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปทรงใบหน้าและร่างกายของแบบ โดยใช้เทคนิคการแต่งหน้าบนพื้นผิวยางพาราให้ใกล้เคียงกับสีผิวตัวละคร โดยทำการถ่ายวีดิทัศน์ขั้นตอนการผลิตผิวหนังเทียมและการตกแต่งตามใบหน้าและร่างกายของแบบ เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนการถ่ายภาพโฆษณาภาพยนตร์ ด้วยกล้อง Canon 600D แล้วนำไปแต่งภาพที่โปรแกรม Adobe Photoshop CS5

จากนั้นนำแบบประเมินให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพนิ่ง 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งภาพ 1 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ 1 คน ทำการประเมินผลด้วยการดูรูปภาพผลงาน วีดิทัศน์ประกอบ และกรอกแบบสอบถาม เพื่อประเมินด้านความสมจริงของคาแรคเตอร์และความสมบูรณ์ของชิ้นงานที่นำมาตกแต่งบนใบหน้าและร่างกายของแบบ


สรุปผลการศึกษา

ในการศึกษาปริญญานิพนธ์เรื่อง การศึกษาการทำเทคนิคเมคอัพโดยใช้ยางพาราเพื่อการถ่ายภาพประกอบโฆษณาภาพยนตร์ เป็นการศึกษาถึงการผลิตชิ้นส่วนผิวหนังเทียมและ การแต่งหน้าเมคอัพเอฟเฟค ซึ่งคณะผู้จัดทำเล็งเห็นถึงการหาวิธีและวัสดุมาทดแทน โดยเลือกใช้ยางพาราซึ่งสามารถหาได้ง่ายในประเทศไทย มีราคาไม่สูงมากนัก และเป็นการลดต้นทุนในการผลิตผิวหนังเทียม เมื่อตกแต่งใบหน้าและร่างกายของแบบแล้ว ทำให้เห็นถึงความสมจริงของชิ้นงานตามภาพตัวละครที่เลือกเป็นแบบให้การศึกษามากน้อยเพียงใด จึงมีแนวทางในการศึกษาการทำเทคนิคเมคอัพโดยใช้ยางพาราเพื่อประกอบการทำโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์

จากผลการศึกษาโดยการตอบแบบสอบถามประเมินการศึกษา การทำเทคนิคเมคอัพโดยใช้ยางพาราเพื่อประกอบการทำโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์ และนำเสนอวีดิทัศน์เพื่อการศึกษาวิธีการปฏิบัติ จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการถ่ายภาพนิ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตกแต่งภาพ (Retouch) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ (Make up Special Effect) จำนวน 3 คน โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

  1. คุณฉัตรชัย ชัยเทอดศิริ (ช่างภาพ บริษัท ฟิฟตี้วัน บางกอก จำกัด)
  2. คุณวัชรพงษ์ พงษ์สุวรรณ (ตกแต่งภาพ บริษัท OIC Retouch)
  3. คุณถัถลี จารุจุฑารัตน์ (ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษอิสระ)

อภิปรายผลการศึกษา

จากการศึกษาปริญญานิพนธ์เรื่อง การศึกษาการทำเทคนิคเมคอัพโดยใช้ยางพาราเพื่อประกอบการทำโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์ ผู้ศึกษาพบว่า การใช้วัสดุยางพารามีความเหมาะสมเป็นธรรมชาติ แต่ควรมีความละเอียด ประณีตในการทำชิ้นงาน ในส่วนของกระบวนการปฏิบัติงานนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน แต่ยังขาดประสบการณ์ เนื่องจากการทำเมคอัพเอฟเฟคนั้นต้องมีประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะบุคคล เพราะการทำชิ้นงานแต่ละชิ้นไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับ
การประยุกต์ใช้ของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพนิ่งและผู้เชี่ยวชาญทางด้านตกแต่งภาพมองว่า การปฏิบัติงานใช้เวลามากเกินไป แต่ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านแต่งหน้าเทคนิคพิเศษกลับมองว่า ใช้เวลาเหมาะสมกับการทำชิ้นงานที่มีการตกแต่งตั้งแต่ใบหน้าไปจนถึงเท้า

ปัญหาในการศึกษา

  1. การทำเทคนิคเมคอัพต้องมีประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะบุคคลในการทำชิ้นงานเพราะการทำชิ้นงานแต่ละชิ้นไม่มีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ของแต่ละบุคคล
  2. วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งใบหน้าและร่างกายของแบบบางอย่างมีราคาแพงและหาซื้อไม่ได้ในประเทศไทย เช่น กาวสำหรับติดวัสดุในการแต่งเทคนิคพิเศษ
  3. การปั้นรูปทรงยังไม่ได้สัดส่วน ขาดมิติของลายและมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ทำให้ลายไม่เด่นชัดและออกมาไม่สมจริงเท่าที่ควร
  4. ชิ้นผิวหนังเทียมมีความหนาเกินไปในบางส่วน ทำให้ยากต่อการตกแต่ง
  5. ในบางส่วนที่ใช้กาวลาเท็กซ์แทนกาวสำหรับติดวัสดุในการแต่งเทคนิคพิเศษ ทำให้ชิ้นยางพาราแข็ง เมื่อแบบขยับตัวจึงทำให้หลุดง่าย
  6. ชิ้นผิวหนังเทียมสามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียว ถ้าหากถอดออกแล้วจำเป็นต้องหล่อชิ้นใหม่ขึ้น
  7. สีที่ใช้ในการทาใบหน้าและร่างกายของแบบมีความด้านเกินไปไม่มันวาว ทำให้ขาดเงาและมิติ ดูไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
  8. เนื่องจากมีการเปลี่ยนแบบกะทันหัน จึงทำให้ชิ้นผิวหนังเทียมที่เตรียมไว้ขนาดไม่เท่ากับสรีระของแบบคนปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะ

  1. ควรหล่อขอบผิวหนังเทียมให้บาง เพื่อง่ายต่อการทำงานและชิ้นงานจะละเอียดมากขึ้น
  2. ควรจัดไฟให้สอดคล้องและเอื้อต่อบุคลิกคาแรคเตอร์ของตัวละครที่เลือกมา เพื่อส่งเสริมให้แบบดูเหมือนตัวละครนั้นมากยิ่งขึ้น
  3. ควรหาข้อมูลก่อนทำงานเพิ่มเติม เพื่อการใช้ประโยชน์จากวัสดุตกแต่งให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

รับชมผลงาน