Advertising film for homestay at Pitak island, Chumphon province

โดย ผสุชา บุญมาก, วริศา ธีระพันธ์พงศ์ และ สุธีรา วงษ์แก้วฟ้า

สาขา เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

ปริญญานิพนธ์เล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร

โดยผลิตภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ความยาว 30 วินาที ด้วยกล้อง Canon EOS 6D และกล้อง Go Pro นำมาตัดต่อบนระบบปฏิบัติการ Window 7 ด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro แล้วบันทึกลงแผ่น DVD-R หลังจากนั้นนำไปประเมินคุณภาพสื่อภาพยนตร์โฆษณาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาจำนวน 4 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ จำนวน 5 ท่าน และผู้ชมทั่วไปจำนวน 20 ท่าน

ผลการศึกษาพบว่า ภาพยนตร์โฆษณาสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องมีการแก้ไขในส่วนของเนื้อหาที่ยังขาดการนำเสนอบางประเด็นของเกาะพิทักษ์ แต่ก็ยังสามารถสร้างความเข้าใจการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ที่ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวประมง โดยส่งเสริมให้ผู้ชมมีความสนใจการท่องเที่ยวบนเกาะพิทักษ์ได้


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

เพื่อศึกษาการผลิตภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถผลิตภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบเขตการศึกษา

ในการศึกษาการผลิตภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร เลือกนำเสนอโดยมีความยาวประมาณ 30 วินาที จำนวน 2 ตอน โดยตอนที่ 1 คือ การให้นักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงบนเกาะพิทักษ์ ตอนที่ 2 คือ กิจกรรมบนเกาะพิทักษ์สำหรับนักท่องเที่ยว ศึกษาโดยใช้กล้อง DSLR Canon 6D กล้อง Go Pro ขาตั้ง เลนส์ 24-105 mm. และเลนส์ 50 mm. เมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายทำก็จะนำมาตัดต่อด้วยโปรแกรม Adobe premiere pro เมื่อผ่านกระบวนการตัดต่อเรียบร้อยแล้วจึงนำมาให้ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลประเมินความถูกต้องของเนื้อหา จำนวน 4 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ประเมินผลงาน จำนวน 5 ท่าน และให้บุคคลทั่วไปประเมินภาพยนตร์โฆษณาโดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 20 ท่าน


สรุปผลการศึกษา

ในการทำแบบสอบถามจากบุคคลทั่วไปทั้งก่อนและหลังชมภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร ได้ข้อสรุปได้ว่า ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์นี้ สามารถกระตุ้นให้กลุ่มบุคคลในวัยเรียนหันมาสนใจการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ได้ระดับหนึ่ง เพราะจากปกติแล้วกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไปท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน

การประเมินด้านเนื้อหาของสื่อภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ การท่องเที่ยวแบบได้สัมผัสชีวิตของชาวบ้านชาวประมง และเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวบนเกาะพิทักษ์ อยู่ในเกณฑ์ดีและมีความพึงพอใจต่อผลงานอยู่ในเกณฑ์ดี

การประเมินด้านภาพยนตร์ที่มีต่อภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์ ภาพยนตร์โฆษณาได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการผลิตภาพยนตร์โฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ เกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร

อภิปรายผลการศึกษา

จากการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ชมทั่วไป ผลงานภาพยนตร์โฆษณาสามารถกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการท่องเที่ยวซึ่งสอดคล้องกับ เสรีวงษ์ มณฑา (2546:11-15) กล่าวว่า การโฆษณาเป็นการสื่อสารข้อมูลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งข่าวสาร เพื่อจูงใจผู้ชมให้เกิดความต้องการ เป็นการเสนอขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มผู้รับสารจำนวนมาก

ปรเมษฐ์ สุคนธขจร (สัมภาษณ์, 2559) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ ได้กล่าวว่า ภาพยนตร์โฆษณาสามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ในระยะเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ ความยาวของภาพยนตร์โฆษณาขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ต้องการจะใช้สื่อซึ่งสอดคล้องกับ สุจิตรา รัตนกรกช (2533:9-11) กำหนดความหมายของภาพยนตร์โฆษณาไว้ว่า ภาพยนตร์โฆษณานั้นมีความยาวไม่เกิน 30 วินาที และ 60 วินาที ยกเว้นสินค้าบางชนิดอาจมีความยาวถึง 120 วินาที ไปจนถึง 180 วินาที ก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริษัทตัวแทนโฆษณาและกลยุทธ์การโฆษณาที่วางไว้

สิริพร สุชีพ (สัมภาษณ์, 2559) ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา ได้กล่าวว่า ภาพยนตร์โฆษณาสามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ วารัชต์ มัธยมบุรุษ (2554) กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ หมายถึง การที่นักท่องเที่ยวจะได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับครอบครัวในท้องถิ่นที่ไปเยือน เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่น

จากการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้ชมทั่วไป ผลงานภาพยนตร์โฆษณาสมารถกระตุ้นให้ผู้ชมรับรู้และรู้สึกอยากไปท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับ บุษบา สุธีธร (2552) กล่าวว่า ภาพยนตร์โฆษณาเป็นงานที่ผลิตขึ้นโดยรวมทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมกันระหว่างเทคโนโลยี ศิลปะ และจิตวิทยา ภาพยนตร์โฆษณาจึงมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อผู้รับสาร

ผู้ศึกษาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ภาพยนตร์โฆษณาสามารถนำเสนอภาพที่หลากหลายน่าสนใจ และน่าติดตาม มีการนำเสนอภาพใต้น้ำซึ่งสอดคล้องกับ ปิยะกุล เลาวัณย์ศิริ (2542 : 553) ที่กล่าวไว้ว่า ภาพยนตร์ใช้ภาพพิเศษ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้สะดุดตาและน่าติดตาม ซึ่งมีรูปแบบการนำเสนอที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้

ผู้ศึกษาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผลงานภาพยนตร์โฆษณาสามารถทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงภาพลักษณ์ และภาพพจน์ที่ดีของเกาะพิทักษ์ ซึ่งสอดคล้องกับ สุทัศน์ บุรีภักดี (2529:37-39) ที่กล่าวไว้ว่า  ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อโฆษณาภาพพจน์สถาบันให้ได้รับการยอมรับ ด้วยการสร้างความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบัน เพราะการสร้างภาพพจน์ยอมช่วยสนับสนุนการขายและบริการ

ปัญหาในการศึกษา

ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

  1. ปัญหาในขั้นก่อนการผลิต (Pre-Production)
    1. การติดต่อกับหน่วยงานเพื่อศึกษาข้อมูลมีหลายขั้นตอน ทำให้ล่าช้า
    2. คณะผู้จัดทำไม่เข้าใจตรงกัน และขาดความรับผิดชอบในการทำงานเป็นทีม ทำให้งานล่าช้า
    3. ในการไปสำรวจเกาะพิทักษ์ครั้งแรกทางผู้จัดทำไม่ได้สำรวจครบถ้วน ทำให้วางแผนการถ่ายทำได้ไม่ครอบคลุมกับสถานที่ถ่ายทำ
  2. ปัญหาในขั้นระหว่างการถ่ายทำ (Production)
    1. ในช่วงที่ถ่ายทำไม่ใช่ช่วงเวลาการท่องเที่ยวของเกาะพิทักษ์ทำให้ได้ภาพจุดเด่นของเกาะได้ไม่ครบถ้วน
    2. อุปกรณ์ไม่ครบตามที่วางแผนไว้
    3. บางช็อตที่ต้องถ่ายบนเรือพื้นที่จำกัด ยากต่อการควบคุม
    4. เมื่อปฏิบัติงานจริงเห็นสถานที่ที่หลากหลายมากขึ้น จึงเพิ่มการถ่ายทำจากที่วางแผนไว้ทำให้การถ่ายทำใช้เวลามากขึ้น
  3. ปัญหาในขั้นหลังการถ่ายทำ (Post-Production)
    1. เนื่องจากสภาพอากาศและสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ภาพบนเรือมีพื้นที่จำกัด ภาพไม่ครบตามที่วางแผน ทำให้ยากต่อการตัดต่อ
    2. เนื่องจากไปถ่ายทำไม่ตรงช่วงระยะเวลาการท่องเที่ยวที่จะเกิดทะเลแหวกในช่วงเดือนมิถุนายน ทำให้ยากต่อการตัดต่อ
    3. ศักยภาพของอุปกรณ์การตัดต่อไม่เอื้ออำนวย

ข้อเสนอแนะ

  1. ควรวางแผนและหาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ให้มากกว่านี้
  2. ควรวางแผนและสอบถามเรื่องช่วงเวลาฤดูกาลที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือจุดเด่นของเกาะพิทักษ์ให้ละเอียดกว่านี้
  3. ควรทดลองถ่ายทำบนเรือที่มีพื้นที่จำกัดก่อน เพื่อที่เวลาถ่ายจริงจะทำให้ทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นขณะถ่ายทำก่อน
  4. ระยะเวลาของผลงานสั้น ทำให้ไม่รับรู้ถึงจุดเด่นของเกาะพิทักษ์ หากนำเนื้อหาของทั้ง 2 ตอน มารวมกันจะเล่าเรื่องได้ดีกว่านี้
  5. ควรหาสถานที่ยืมอุปกรณ์ไว้สำรอง เผื่อสถานที่แรกให้อุปกรณ์ตามที่ต้องการไม่ครบ
  6. ควรศึกษาวิธีการตัดต่อและเทคนิคพิเศษให้มากกว่านี้ เพื่อให้ภาพดูสวยและน่าสนใจมาก
    ขึ้น

รับชมผลงาน ลำดับที่ 1

รับชมผลงาน ลำดับที่ 2