The Study of Film Production for Personal Documentary

จัดทำโดย อรณพา ศรีสำราญ และ เบญจมาภรณ์ พระพรหม

สาขา เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

ปริญญานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตภาพยนตร์สารคดีชีวิตบุคคล โดยผู้ศึกษาทำการผลิตภาพยนตร์สารคดีชีวิตบุคคล ของ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี มีความยาว 12 นาที

โดยกระบวนการศึกษาการผลิตภาพยนตร์สารคดีชีวิตบุคคล ได้มีการศึกษาและสืบค้นข้อมูลเอกสาร ทำการสอบถามและสัมภาษณ์ชีวประวัติ และนำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นบทภาพยนตร์สารคดี ถ่ายทำโดยใช้กล้อง DSLR ยี่ห้อ Canon รุ่น 60D บันทึกลง SD Card 16 GB บันทึกลงคอมพิวเตอร์ Windows 8 และทำการตัดต่อด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 แปลงสัญญาณเป็น DVD นำไปฉายให้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ 4 คน จากนั้นทำการประเมินผลจากแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพด้านการผลิตภาพยนตร์สารคดีโดยให้ความสำคัญกับบทสารคดี องค์ประกอบทางด้านภาพ เสียง เทคนิคการลำดับภาพ และทำการประเมิน

จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การผลิตภาพยนตร์สารคดีชีวิตบุคคลนี้พบว่า ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้มีความน่าสนใจ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี ออกมาน่าสนใจ ทำให้รู้ถึงทัศนคติและแบบอย่างกำลังใจในการดำเนินชีวิตสามารถใช้เป็นสื่อแนะนำแนวคิด ปรัชญาการใช้ชีวิตให้กับบุคคลอื่น ๆ ต่อไปได้


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษากระบวนการผลิตภาพยนตร์สารคดีประเภทชีวิตบุคคล
  2. เพื่อให้งานสารคดีประเภทบุคคลน าเสนอ แนวคิด แง่มุมต่าง ๆ ของบุคคล เพื่อประโยชน์ให้ผู้อื่น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถผลิตภาพยนตร์สารคดีประเภทชีวิตบุคคล เพื่อนำเสนอปรัชญา แนวคิดแง่มุมต่าง ๆ ของคน ให้บุคคลอื่นเข้าใจชีวิตมากขึ้น และเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป

ขอบเขตการศึกษา

ผลิตภาพยนตร์สารคดีประเภทชีวิตบุคคล เรื่อง Hope of Inspiration โดยนำเสนอเรื่องราวชีวิตของ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี มีความยาว 12 นาที ถ่ายทำโดยใช้กล้อง DSLR ยี่ห้อ Canon รุ่น 60D และทำการตัดต่อด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 แปลงสัญญาณเป็น DVD นำไปฉายให้กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตภาพยนตร์ 4 คน จากนั้นทำการประเมินผลจากแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพด้านการผลิตภาพยนตร์สารคดี โดยเปรียบเทียบผลการประเมินเป็นค่าร้อยละและเบี่ยงเบนมาตรฐาน


สรุปผลการศึกษา

จากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างและผู้เชี่ยวชาญ ผู้ศึกษาสามารถสรุปประเด็นต่าง ๆ จากการนำเสนอผลงานการผลิตสารคดีชีวิตบุคคล ได้ดังนี้

การผลิตภาพยนตร์สารคดีชีวิตบุคคล ในด้านเนื้อหา ประวัติบุคคลที่นำเสนอในสารคดีมีความเหมาะสม น่าสนใจและติดตาม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีจิตอาสาและส่งผลให้ผู้ชมมีทัศนคติที่ดีขึ้นได้ ทั้งยังสามารถนำแนวคิด ทัศนคติ ของบุคคลที่นำเสนอไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ในด้านกายภาพ ภาพและการจัดองค์ประกอบของภาพมีความสวยงามปานกลางถึงมาก เสียงบรรยายและเสียงประกอบมีความเหมาะสม แต่เสียงรบกวนอาจมากเกินไป และการเล่าเรื่องในสารคดีมีความน่าสนใจ สามารถดึงดูดให้ผู้ชมติดตามได้ การลำดับภาพในสารคดีมีความต่อเนื่อง
และเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ผู้ชมติดตาม

อภิปรายผล

จากการผลิตภาพยนตร์สารคดีชีวิตบุคคล และผลการประเมินของสารคดีจากกลุ่มผู้ชมตัวอย่าง จำนวน 50 คน และผู้เชี่ยวชาญการผลิตภาพยนตร์ 4 คน ทั้งข้อมูลภาพ เสียงบรรยายและดนตรีประกอบ การลำดับภาพ พบว่า การนำเสนอเรื่องราวของ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี ทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงเรื่องราวชีวิตของ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี ซึ่งสอดคล้องกับ ถวัลย์ มาสจรัส (2538 :25-26) กล่าวว่า “สารคดีบุคคล (Personal profile) เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตที่น่าสนใจของบุคคลทั่วไปในแง่มุมต่าง ๆ” และ ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548:2-5) กล่าวว่า “สารคดีชีวิตบุคคล หมายถึง สารคดีที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวหรือแง่มุมในชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นคนเด่นคนมีชื่อเสียง แต่ชีวิตของบุคคลธรรมดาสามัญก็สามารถนำมาเขียนเป็นสารคดีชีวิตประเภทนี้ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกและการจับประเด็นที่นำเสนอ ลักษณะของสารคดีเกี่ยวกับชีวิตบุคคลจะเป็นการนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับชีวประวัติ อาชีพการงาน การต่อสู้ชีวิต ความสำเร็จหรือความล้มเหลว อุดมคติหรือปรัชญาชีวิตที่บุคคลนั้นยึดถือเป็นแนวทาง ผู้เขียนจะต้องเรียบเรียงและจัดลำดับการนำเสนอให้น่าอ่าน คุณค่าของสารคดีชีวิตบุคคลอยู่ที่การแสดงแบบอย่างให้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล ซึ่งอาจจะมีทั้งแง่มุมในด้านประสบความสำเร็จและความล้มเหลว นอกจากจะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจชีวิตมนุษย์ได้มากขึ้นแล้ว อาจเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับผู้อ่านด้วย” และผู้ชมรับรู้ความสำคัญของการมีจิตอาสาและส่งผลให้มีทัศนคติที่ดีขึ้นได้ ทั้งยังสามารถนำแนวคิด ทัศนคติ ของบุคคลที่นำเสนอไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ ศรี คณปติ (เว็บไซต์:2548) กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายของสารคดี เพื่อแสดงความเห็นหรือแนวคิด เป็นการให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านมีความคิดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น สารคดีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน สารคดีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของสังคม สารคดีเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาของชาติ เป็นต้น” และ วนิดา บำรุงไทย (2545: 102) “ได้ให้ความหมายของประวัติบุคคลไว้ว่า ประวัติบุคคลเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งนอกจากมีประวัติความเป็นมา การดำเนินชีวิตในส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของเจ้าของประวัติเป็นสาระสำคัญแล้ว ยังมักมีความสัมพันธ์หรือสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นไป ทัศนคติ ค่านิยมของสังคม ตลาดจนอาจมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตามที่เจ้าของมีส่วนข้องเกี่ยวด้วย” ด้านการการเล่าเรื่องในสารคดีมีความน่าสนใจ สามารถดึงดูดให้ผู้ชมติดตามได้ดี สอดคล้องกับคำกล่าวของ บริษัท พาโนราม่าเวิลด์ไวด์ (2549 : 12-14) กล่าวว่า “รูปแบบการนำเสนอสารคดี เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น

  • แบบเล่าเรื่อง เป็นสารคดีที่ใช้รูปแบบของการบรรยายแบบเล่าเรื่อง รูปแบบนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในปัจจุบัน รูปแบบการเล่าเรื่องพัฒนามาจากการบรรยายแบบธรรมดาการเล่าเรื่องสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ดีกว่า ยิ่งถ้าสามารถบรรยายได้ธรรมชาติเหมือนภาษาพูดจะทำให้ใกล้ชิดผู้ดูมากขึ้น สารคดีก็น่าสนใจมากขึ้นด้วย
  • แบบพิธีกรดำเนินเรื่อง เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) รูปแบบนี้จะใช้ตัวคนเป็นตัวดำเนินเรื่องบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นคนเล่าเรื่องหรือเป็นผู้รู้หรืออาจจะเป็นตัวเอกของเรื่องก็ได้”

ข้อเสนอแนะ

  1. ควรมีเทคนิคทางการนำเสนอให้มากขึ้น เพื่อความน่าสนใจของสารคดี
  2. ควรมีภาพ Insert มากกว่านี้
  3. เสียงบรรยายมีเสียงรบกวนมากเกินไป
  4. ควรเลือกสถานที่ที่สามารถบันทึกเสียงได้โดยไม่มีเสียงรบกวน และคำนึงถึงความสวยงาม ภาพ และองค์ประกอบภาพด้วย
  5. ควรให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการในการผลิตสารคดี โดยเฉพาะขั้นตอนการวางแผนก่อนการผลิต
  6. ภาพยังเป็นนั่งสัมภาษณ์และตัดต่อภาพกิจกรรมเข้ามาในสัดส่วนที่มากไป หากถ่ายตามสถานการแบบเรียลลิตี้ จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น
  7. ควรมีการ Introduction เกริ่นนำ Teaser จะเป็นเหมือนไฮไลท์ตัวอย่าง ที่จะทำให้คนสนใจติดตามมากขึ้น
  8. อาจใช้ Graphic เข้าช่วยเพิ่มเติมในการเล่าเรื่อง จะทำให้เนื้อเรื่องดูน่าสนใจขึ้น

ปัญหาและอุปสรรค

  1. การถ่ายทำไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะบุคคลต้นเรื่องมีกิจวัตรประจำวันที่ต่างกันออกไป ไม่สามารถควบคุมได้
  2. ภาพที่ได้ไม่ตรงตามบทภาพที่กำหนดไว้ เพราะการถ่ายทำไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ระหว่างการถ่ายทำหรือหลังการถ่ายทำ ตัวบุคคลต้นเรื่องมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา
  3. เสียงบรรยายตลอดเรื่องค่อนข้างมีปัญหา ในเรื่องของเสียงรบกวนที่มีมากเกินไปเนื่องจากสถานที่ถ่ายทำที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบันทึกเสียง

รับชมผลงาน