The Production of Infographic Media in Public Relations to Educate Weight Loss

จัดทำโดย ลักษิกา เหล่าสุทธิวงศ์, มาซามิ โนมูล, มนัสวี มณีกาญจน์ และ พัชราภา คินันท์

สาขา เทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ

การศึกษาปริญญานิพนธ์เรื่อง การผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อการประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อการประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้องและเพื่อศึกษาความรู้ของกลุ่มทดลองภายหลังได้รับสื่ออินโฟกราฟิกเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก โดยการใช้แบบประเมินความรู้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มทดลอง

จากการศึกษาพบว่า กระบวนการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกในรูปแบบโปสเตอร์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนการเตรียมการผลิต (Pre-Production) คณะผู้วิจัยเริ่มจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับด้านนี้ วิเคราะห์เนื้อหาและกำหนดแนวคิดเพื่อให้สื่ออินโฟกราฟิกถูกออกแบบมาในรูปแบบการนำเสนอเดียวกัน เมื่อได้แนวคิดแล้วจึงทำการดราฟภาพขึ้นมาเพื่อนำไปเสนอแก่ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่านเพื่อขอข้อเสนอแนะและนำไปปรับปรุงแก้ไข

ขั้นตอนการผลิต (Production) คณะผู้วิจัยดราฟภาพสำหรับใช้ในสื่ออินโฟกราฟิกโดยใช้โปรแกรมAdobe Photoshop CS6 และโปรแกรม Adobe illustrator CC แล้วจึงปรับแก้ตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ

ขั้นตอนหลังการผลิต (Post-Production) ทำการปริ้นท์โปสเตอร์ขนาด A3 โดยนำโปสเตอร์ไปเผยแพร่ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสถานที่ที่ทางคณะผู้วิจัยจะนำโปสเตอร์ไปติดเพื่อเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยและสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดได้ที่มุมล่างของโปสเตอร์เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้องผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจชื่อ “อย่าหาว่าพี่อ้วนเลยนะ”

นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังพบว่าภายหลังการรับชมสื่ออินโฟกราฟิกในรูปแบบโปสเตอร์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักแล้ว กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดดังจะเห็นได้จากการที่กลุ่มตัวอย่างก่อนได้รับชมสื่อไม่มีความรู้แต่หลังจากการได้รับชมสื่ออินโฟกราฟิกไปแล้วนั้นทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้มากขึ้น เช่น สื่ออินโฟกราฟิกชุดที่ 1 เรื่องความเข้าใจผิดในการรับประทานอาหารเพื่อช่วยลดน้ำหนัก การงดอาหารเย็นช่วยให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมกลุ่มตัวอย่างไม่มีความรู้ ร้อยละ 73.33 แต่ภายหลังได้รับชมสื่อกลุ่มตัวอย่างมีความรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 96.66 และกลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่า สื่ออินโฟกราฟิกทำให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักมากขึ้นร้อยละ 73.33


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษากระบวนการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อการประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง
  2. เพื่อศึกษาความรู้ของวัยรุ่นเพศหญิงภายหลังได้รับสื่ออินโฟกราฟิกเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง

โจทย์การวิจัย

  1. กระบวนการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อการประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้องมีขั้นตอนอย่างไร
  2. วัยรุ่นเพศหญิงมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลดน้ำหนักภายหลังได้รับสื่ออินโฟกราฟิกมากน้อยเพียงใด

ขอบเขตการศึกษา

ศึกษากลุ่มวัยรุ่นเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปีเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลดน้ำหนักโดยทางคณะผู้วิจัยได้น้ำเสนอในรูปแบบสื่ออินโฟกราฟิกมีด้วยกัน 1 สื่อ คือ

สื่ออินโฟกราฟิกโดยประเภทโปสเตอร์ ขนาด A3 จำนวน 3 ชุด ชุดละ 2 ชิ้นงาน รวม 6 ชิ้นงาน ใส่ คิวอาร์โค้ด (QR Code) ร่วมกับสื่ออินโฟกราฟิกประเภทโปสเตอร์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปยังสื่อเฟซบุ๊คแฟนเพจ (Facebook fanpage) เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่สื่ออินโฟกราฟิก

หลังจากที่ผลิตสื่อเสร็จเรียบร้อยจะนำสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลดน้ำหนักไปเผยแพร่ให้แก่วัยรุ่นเพศหญิงอายุระหว่าง 18-24 ปี จำนวน 30 คนซึ่งเป็นกลุ่มทดลอง รับชมสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักและตอบแบบประเมินความรู้

นิยามศัพท์

การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง หมายถึง การรับประทานอาหารโดยคำนึงถึงหลักโภชนาการและออกกำลังกายที่ถูกวิธีอย่างสม่ำเสมอ

สื่ออินโฟกราฟิก หมายถึง สื่อที่ผสมผสานข้อมูลและการออกแบบเข้าด้วยกัน โดยอินโฟกราฟิกจะเป็นภาพหรือกราฟิกที่แสดงข้อมูลทั้งในเชิงสถิติ ความรู้ หรือตัวเลข ที่ผ่านการจัดการข้อมูลจากที่มีความซับซ้อนให้เป็นข้อมูลที่ง่ายที่ผู้รับสารสามารถประมวลผลด้วยระยะเวลาอันรวดเร็วและจำกัด เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักแก่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นวัยรุ่นเพศหญิงอายุระหว่าง 18-24 ปี

กระบวนการผลิตสื่ออินโฟกราฟิก หมายถึง เริ่มจากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องแล้วนำมากำหนดแนวคิดก่อนนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แล้วจึงนำข้อมูลไปเรียบเรียงให้เป็นรูปภาพ เลือกรูปแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดและเผยแพร่ผ่านทางสื่อเฟสบุ๊คแฟนเพจ

ความรู้ หมายถึง ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการลดน้ำหนักหลังจากได้ชมสื่ออินโฟกราฟิก ในที่นี้ผู้วิจัยจะให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่วัยรุ่นเพศหญิงอายุระหว่าง 18-24 ปี

วัยรุ่นเพศหญิง หมายถึง ผู้ที่อยู่ในวัย 18-24 ปี เป็นเพศหญิงมีความต้องการการยอมรับ รักสวยรักงามต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของตนเอง

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

การวิจัยครั้งนี้ได้ชิ้นงานสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักเพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดในการลดน้ำหนักในวัยรุ่นเพศหญิงอายุระหว่าง 18-24 ปีให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อนำสู่พฤติกรรมการลดน้ำหนักที่เหมาะสม


สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

จากการศึกษาปริญญานิพนธ์เรื่อง การผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อการประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ในครั้งนี้เป็นการวิจัยในลักษณะการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องและสำรวจความรู้ของกลุ่มทดลอง โดยการใช้แบบประเมินความรู้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จำนวน 3 ท่านเป็นที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะและวัยรุ่นเพศหญิงอายุระหว่าง 18-24 ปี จำนวน 30 คนเป็นกลุ่มทดลองโดยตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังต่อไปนี้

  1. เพื่อศึกษากระบวนการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก
  2. เพื่อศึกษาองค์ความรู้ของกลุ่มทดลองภายหลังได้รับสื่ออินโฟกราฟิกเกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้อง

สรุปผลการวิจัย

ผลการวิจัยการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อการประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์มีดังนี้

  1. ขั้นตอนการดำเนินการ
    1. ขั้นตอนเตรียมการผลิต (Pre-Production)
      1. คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาข้อมูลและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับความเข้าใจผิดในการลดน้ำหนัก หลังจากนั้นได้ทำการคัดเลือกข้อมูลที่จะนำมาทำเป็นสื่ออินโฟกราฟิกในรูปแบบโปสเตอร์ได้แก่ความเข้าใจผิดในการรับประทานอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก,ความเข้าใจผิดในการออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนักและให้คำแนะนำในการรับประทานอาหารและออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนัก
      2. เมื่อได้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว คณะผู้วิจัยได้ทำการดราฟสื่ออินโฟกราฟิกและนำเสนอแก่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านเพื่อขอคำแนะนำและข้อเสนอแนะเพื่อไปปรับแก้งานต่อไป
      3. หลังจากให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านประเมินสื่อ คณะผู้วิจัยจึงได้ปรับแก้ข้อมูลแล้วจึงนำมาผลิตสื่ออินโฟกราฟิกขนาด A3 จำนวน 3 ชุด ชุดละ 2 ชิ้นงาน โดยแต่ละชุดมีหัวข้อเรื่องดังต่อไปนี้ กินผิดชีวิตพัง!!!, กินอย่างไรให้สวยปัง!!!, อย่าหาว่าพี่สอนเลยนะ…ลดถูกวิธีหุ่นก็ดีได้, อย่าหาว่าพี่สอนเลยนะ…ออกกำลังกายผิดชีวิตเปลี่ยน, ชีวิตดี๊ดี…เริ่มที่การกิน และ 1 อาทิตย์ ฟิต & เฟิร์ม
    2. ขั้นตอนการผลิต (Production)
      1. แบ่งข้อมูลในการลดน้ำหนักออกเป็น 3 หัวข้อได้แก่ ความเข้าใจผิดและข้อมูลที่ถูกต้องในการรับประทานอาหารในช่วงลดน้ำหนัก,ความเข้าใจผิดและข้อมูลที่ถูกต้องในการออกกำลังกายและวิธีการที่ถูกต้องในการรับประทานอาหารและออกกำลังกาย
      2. หาแหล่งข้อมูลอ้างอิง (Reference) เพื่อกำหนดแนวทางและทำการดราฟภาพสำหรับใช้ในสื่ออินโฟกราฟิกโดยใช้โปรแกรมAdobe Photoshop CS6 และโปรแกรม Adobe illustrator CC
    3. ขั้นตอนหลังการผลิต (Post-Production)
      1. ปริ้นท์โปสเตอร์ขนาด A3 และเผยแพร่ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยสถานที่ที่ทางคณะผู้วิจัยจะนำโปสเตอร์ไปติดเพื่อเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน, โรงอาหารกลาง, วิทยบริการ, สนามกีฬา และอาคารเรียนรวมและปฏิบัติการ (รป.)
      2. เผยแพร่โปสเตอร์และข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจชื่อ “อย่าหาว่าพี่อ้วนเลยนะ” หรือสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดได้ที่มุมล่างของโปสเตอร์
  2. ขั้นตอนการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
    1. สรุปข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามจากผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจทั้งหมด 30 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 21 ปี มีจำนวนมากที่สุด จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาได้แก่อายุ 23 ปี จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 16.66 รองลงมาอายุ 20 ปี จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 13.33 รองลงมาอายุ 24 ปี จำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 10 รองลงมาอายุ 18 จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.66 รองลงมาอายุ 19 ปี จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.66 รองลงมาอายุ 22 ปี จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.66 อยู่ในระดับการศึกษาปริญญาตรี มีจำนวนมากที่สุด จำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 93.33 รองลงมาอยู่ในระดับการศึกษามัธยมศึกษา/ปวช. จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.66
    2. สรุปข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งก่อนและหลังได้รับชมสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก ภายหลังจากการที่นำสื่ออินโฟกราฟิกให้กลุ่มตัวอย่างได้ดูแล้วและทำการประเมินสื่อปรากฎว่า ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นโดยพิจารณาเป็นแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้
      1. ในชุดที่ 1 เรื่องความเข้าใจผิดในการรับประทานอาหารเพื่อช่วยลดน้ำหนัก เช่น การงดบริโภคคาร์โบไฮเดรตช่วยให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมกลุ่มตัวอย่างไม่มีความรู้ร้อยละ 86.66 แต่ภายหลังได้รับชมสื่อกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ร้อยละ 80
      2. ในชุดที่ 2 เรื่องความเข้าใจผิดในการออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำหนัก เช่น ห้าม Weight Training เพราะจะทำให้มีกล้ามแขน จากเดิมกลุ่มตัวอย่างไม่มีความรู้ร้อยละ 66.66 แต่ภายหลังได้รับชมสื่อกลุ่มตัวอย่างมีความรู้ร้อยละ 90
      3. กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่า สื่ออินโฟกราฟิกทำให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักมากขึ้นร้อยละ 73.33

 

ข้อเสนอแนะทั่วไป

ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสื่ออินโฟกราฟิกเป็นสื่อที่เหมาะสำหรับการให้ความรู้กับกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้นต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่กลุ่มวัยรุ่นในประเด็นอื่น ๆ อาจจะเลือกใช้สื่ออินโฟกราฟิกเป็นสื่อในการให้ความรู้เพราะจะช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้และมีความน่าสนใจ เข้าใจง่าย

ข้อเสนอแนะสำหรับงานวิจัยครั้งต่อไป

คณะผู้วิจัยให้มีการผลิตสื่ออินโฟกราฟิกในรูปแบบโปสเตอร์เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มวัยรุ่น เช่น โรค HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเปรียบเทียบกับผลการวิจัยครั้งนี้


ผลงานนักศึกษา