The Study of the Factor Effect of Planning for Container Loading by using Six Sigma Tools, in Case Study of Sony Technology (Thailand) Co., Ltd. (Chonburi Technology Centre), Amata Nakorn Industrial Estate

โดย เพียงเพ็ญ นนทจิต

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการวางแผนการบรรจุสินค้าและหาแนวทางวิธีการปรับปรุงขั้นตอนการวางแผนการบรรจุสินค้า โดยนำวิธีบริหารแบบ Six Sigma เป็นเครื่องมือในการปรับปรุง กรณีศึกษา บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด (ชลบุรีเทคโนโลยีเซ็นเตอร์) ผู้ค้นคว้าใช้หลักการและแนวคิดของซิกซ์ ซิกม่า ที่เรียกว่า ดีเมอิกหรือ DMAIC ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลักในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ โดยทั้ง 5 ขั้นตอนหมายถึงDefine คือ การกำหนดขอบเขตของปัญหา, Measure คือ การเก็บข้อมูลและวัดผล, Analyze คือการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา, Improve คือ การแก้ไขปรับปรุงกระบวนการทำงาน และControl คือ การควบคุมผลให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด และป้องกันการเกิดซ้ำ

สำหรับการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ผู้ศึกษาต้องการหาปัจจัยหรือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการวางแผนการบรรจุสินค้า เพื่อหาแนวทาง แก้ไขปรับปรุงกระบวนการการปฏิบัติงานและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบรรจุสินค้า สำหรับสินค้าสำเร็จรูปค้าชนิดบรรจุเต็มตู้ (Full Container Load) ซึ่งเตรียมส่งออกโดยทางเรือเดินทะเลไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลการส่งออกเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 6 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะๆ ละ 3 เดือน คือ ก่อนและหลังการปรับปรุง

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการวางแผนการบรรจุสินค้าเกิดจากการขาดการประสานงานและความเข้าใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งไม่มีการควบคุมประสิทธิภาพการบรรจุสินค้าในการส่งออกแต่ละสัปดาห์ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิตและแผนกโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบด้วย 2 หน่วยงาน คือ ฝ่ายจัดทำเอกสารส่งออกและฝ่ายบรรจุสินค้าผู้ศึกษาค้นคว้า จึงได้หาแนวทางแก้ไขปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มศักยภาพของการวางแผนการบรรจุสินค้าเพื่อควบคุมประสิทธิภาพการบรรจุสินค้าของแต่ละสัปดาห์ให้อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดคือร้อยละ 80 ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งการปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานสามารถสรุปได้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลก่อนการบรรจุสินค้า, ขั้นตอนการออกแบบการบรรจุสินค้า และขั้นตอนการจัดทำคู่มือและมาตรฐานการบรรจุสินค้า

ผลการปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานพบว่า ประสิทธิภาพการบรรจุสินค้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการบรรจุสินค้าในช่วงก่อนการปรับปรุงซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68 คิดจากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออกทั้งหมด 123 ตู้ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของประสิทธิภาพในการบรรจุสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 15 ส่วนประสิทธิภาพการบรรจุสินค้าช่วงหลังการปรับปรุงอยู่ที่ร้อยละ80 จากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออกทั้งหมด 169 ตู้ และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของประสิทธิภาพในการบรรจุสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 7

DOWNLOAD