Feasibility Study on Investment (For Welding Nylon Filter Machine) for Increase Productivity Case Study: Kawasumi Laboratories (Thailand) Co., Ltd.

โดย พรสวรรค์ พวงภาคีศิริ

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน(ในเครื่องจี้ Nylon Filter) เพื่อเพิ่มผลผลิตกรณีศึกษา: บริษัทคาวาซูมิ ลาบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องการศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาจุดที่เป็นคอขวดของกระบวนการ และปรับปรุงกระบวนการที่เป็นคอขวดนั้นเพื่อให้กระบวนการมีสมดุลสายการผลิตที่ดีที่สุด ซึ่งจะสามารถลดความสูญเสียและเวลาไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการ ทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตสูงสุดและต้นทุนการผลิตลดลง

วิธีการวิจัยเริ่มต้นจากการเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะทำการปรับปรุง จากนั้นทำการรวบรวมข้อมูลปริมาณผลผลิตโดยการจับเวลาการผลิต 1 รอบเวลาการผลิต (Cycle Time) และคำนวณออกมาเป็นปริมาณผลผลิตจำนวนชิ้นต่อคนต่อชั่วโมง ของแต่ละกระบวนการประกอบ จะได้กระบวนการที่เป็นคอขวดที่มีปริมาณผลผลิตต่ำที่สุด จากนั้นนำกระบวนการนั้นมาวิเคราะห์ปริมาณผลผลิตในแต่ละสถานีการประกอบย่อย จะได้สถานีการประกอบย่อยที่เป็นคอขวดที่ต้องทำการปรับปรุง

วิธีการปรับปรุงสถานีการประกอบย่อยเพื่อลดสภาพการเป็นคอขวดและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้มาจากการระดมสมองเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุด และจากการระดมสมองได้แนวทางในการปรับปรุงโดยการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานคน และการลงทุนในเครื่องจักรจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับ โดยผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในเครื่องจักรจะได้จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนแรงงานที่ลดลง

ในงานวิจัยนี้ได้เลือกผลิตภัณฑ์ Blood Tubing Line : BTL มาเพื่อทำการปรับปรุง ทั้งนี้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทและมีสายการผลิตที่สลับซับซ้อนจึงเกิดปัญหาไม่สมดุลของสายการผลิต ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไม่ดีเท่าที่ควรและปริมาณผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อวิเคราะห์เข้าไปในแต่ละกระบวนการของการประกอบ BTL พบว่ากระบวนการที่เป็นคอขวดคือChamber Process จึงเลือกปรับปรุงที่กระบวนการดังกล่าว โดยวิเคราะห์เข้าไปในแต่ละสถานีการประกอบย่อยทั้ง 8 สถานีการประกอบย่อย พบว่าสถานีการประกอบย่อยที่ 2 คือ การประกอบ Nylon Filter เข้ากับ Connector Tube เป็นสถานีการประกอบที่เป็นคอขวดเพราะปริมาณผลผลิตจำนวนชิ้นต่อคนต่อชั่วโมงต่ำที่สุด ดังนั้นจึงทำการปรับปรุงสถานีการประกอบดังกล่าวเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน

จากการใช้เครื่องจักรเข้ามาประกอบในสถานีการประกอบย่อยที่ 2 พบว่า สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตของการประกอบ Nylon Filter เข้ากับ Connector Tube ได้เท่ากับ 318% จากเดิมปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 420 ชิ้นต่อคนต่อชั่วโมง เป็น 1,800 ชิ้นต่อคนต่อชั่วโมง และทำให้กระบวนการประกอบ Chamber Process มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% จากเดิมปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 100 ชิ้นเป็น 120 ชิ้นต่อคนต่อชั่วโมง และทำให้ผลิตภัณฑ์ BTL มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 5.68% จากเดิมปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 32 ชิ้นต่อคนต่อชั่วโมง เป็น 34 ชิ้นต่อคนต่อชั่วโมง และสามารถประหยัดต้นทุนแรงงานต่อปีได้เท่ากับ 1,154,409 บาทต่อปี มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) = 2,985,556.30บาท ผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C Ratio) = 1.96 ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) = 3 เดือนดังนั้นการลงทุนในเครื่องจี้ Nylon Filter จึงมีความเป็นไปได้และผู้บริหารควรตัดสินใจลงทุน

DOWNLOAD