The Relationship between Audit Quality Control and Audit Quality of Cooperative Auditors

โดย พรรณราย คำจันทร์ดี

ปี     2551

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่มีผลต่อการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA 2) ข้อมูลทั่วไปของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่มีผลต่อคุณภาพการสอบบัญชี 3) การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA ของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ที่มีความสัมพันธ์ และมีผลกระทบต่อคุณภาพการสอบบัญชี และ 4) จัดลำดับความสำคัญของการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สามารถรับรองงบการเงินของสหกรณ์ได้จำนวน 130 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามในภาพรวมมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าเท่ากับ 0.9733 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ (Frequencies) ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ การเปรียบเทียบความแตกต่าง (Independent-Samples T-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) การวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ (Scheffe) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบพหุคูณ (Multiple Correlation Analysis) และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Regression Analysis)

ผลการวิจัยพบว่า 1) ประสบการณ์ในการสอบบัญชีสหกรณ์มีผลกระทบต่อระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA ด้านการวางแผนงานสอบบัญชี และด้านวิธีการตรวจสอบ และจัดทำหลักฐานการปฏิบัติงาน และจำนวนชั่วโมงในการอบรมความรู้เกี่ยวกับบัญชี และการสอบบัญชีมีผลกระทบต่อระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA ด้านการสอบทานงานและด้านการรายงานการสอบบัญชี 2) จำนวนชั่วโมงที่ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับบัญชี และการสอบบัญชีมีผลกระทบต่อระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพการสอบบัญชีโดยรวม และคุณภาพการสอบบัญชีด้านความถูกต้อง ด้านความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต และระดับการศึกษามีผลกระทบต่อระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพการสอบบัญชีด้านความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต 3) การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับคุณภาพการสอบบัญชี 4) การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งสามารถเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้A-Action การรายงานการสอบบัญชี C-Check การสอบทานงาน P-Plan การวางแผนงานสอบบัญชีและ D-Do วิธีการตรวจสอบ และจัดทำหลักฐานการปฏิบัติงาน

โดยสรุปการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามวงจรคุณภาพ PDCA มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับคุณภาพการสอบบัญชี ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของคุณภาพการสอบบัญชี 1) ผู้สอบบัญชีควรตระหนัก และให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ(Management Skill) 2) การมอบหมายภาระงานควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี 3) เน้นการสร้างทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญสำหรับการตรวจสอบงานในแต่ละด้านเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน 4) หน่วยงานควรส่งเสริมการจัดการฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาชีพแก่ผู้สอบบัญชี และผู้ช่วยอย่างสม่ำเสมอ 5) กระตุ้นให้ผู้สอบบัญชีเกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creation) ในการวางแผนงาน การปฏิบัติงาน การสอบทานงานและการรายงานการสอบบัญชี 6) ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้สอบบัญชีศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น 7) ผู้สอบบัญชีควรได้กำหนดจำนวนผู้ช่วยตามปริมาณงานด้วยตนเอง และผู้ช่วยต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน 8) ผู้สอบบัญชีควรให้ความสำคัญในการปฏิบัติงานตามแผนงานสอบบัญชี 9) ผู้สอบบัญชีควรทำการสอบทานความสัมพันธ์ของตน และผู้ช่วยว่าไม่มีเรื่องที่อาจทำให้ผู้สอบบัญชีหรือผู้ช่วยขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานสอบบัญชี 10) ผู้สอบบัญชีควรให้ความสำคัญกับรายงานผลการตรวจสอบบัญชีโดยมีการรายงานจุดอ่อนของการควบคุมภายใน ข้อบกพร่องและข้อเสนอแนะ 11)การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปมาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการรายงานการสอบบัญชี

DOWNLOAD