Development of biosensor for glucose detection

โดย สุริยาภา จงจินากูล

ปี 2555

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้พัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของระบบไบโอเซนเซอร์สำหรับตรวจหากลูโคสในตัวอย่างจริง โดยใช้เอนไซม์กลูโคสดีไฮโดรจีเนสเป็นสารชีวภาพ  และใช้ขั้วไฟฟ้าแกรไฟต์วัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงของสารละลายตัวอย่างหลังเกิดปฏิกิริยาของกลูโคส ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพความไววิเคราะห์ของวิธีด้วยอนุภาคนาโนพอลิไพโรล

ศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมของปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อประสิทธิภาพของไบโอเซนเซอร์ได้แก่ปริมาณอนุภาคนาโนพอลิไพโรล ความเข้มข้นของเอนไซม์ ความเข้มข้นและพีเอชของสารละลายบัฟเฟอร์ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม วิธีวิเคราะห์สามารถตรวจหากลูโคสได้ในช่วงความเป็นเส้นตรง 1 ถึง 25 มิลลิโมลาร์ มีขีดจำกัดในการตรวจวัด 0.46 มิลลิโมลาร์ วิธีที่พัฒนานี้มีความไว-วิเคราะห์เท่ากับ  0.2  ไมโครแอมแปร์ต่อมิลลิโมลาร์  ขั้วไฟฟ้าที่ตรึงเอนไซม์สามารถใช้ซ้ำได้ 55 ครั้งและเวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์เพียง  3 นาที  นอกจากนี้นำวิธีที่ได้พัฒนาขึ้นมาไปวิเคราะห์หาปริมาณกลูโคสในตัวอย่างซีรั่มจำนวน 5 ตัวอย่าง พบว่าผลวิเคราะห์ที่ได้จากวิธีนี้สอดคล้องกับวิธีมาตรฐาน เมื่อทดสอบด้วยสถิติ ที-เทส  ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % (P=0.05)

ดังนั้นแสดงว่าวิธีไบโอเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นมาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณกลูโคสในตัวอย่างจริงได้ โดยมีข้อดีคือ สามารถใช้ซ้ำได้ ราคาถูก ไม่มีผลรบกวนจากออกซิเจน และไม่ต้องมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง

Download : Development of biosensor for glucose detection